เร่งผุดสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC ชู “ICD ฉะเชิงเทรา” ประตูการค้าอาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2561 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดประชุมสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC มี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมสัมนา

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 30ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว

โดยระยะแรกเป็นการยกระดับพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง และทางน้ำแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ภายในพื้นที่ EEC เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าขนส่ง ซึ่งเป็นที่มาของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (Inland Container Depot : ICD) เพื่อรองรับ EEC

สนข. ได้รับมอบหมายให้จัดจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ ICD ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้า รวมถึงเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างนิคมอุตสาหกรรมรอบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเข้าสู่พื้นที่ EEC และท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด ตลอดจนส่งเสริมบทบาทให้ EEC เป็นประตูการค้าของกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม

โดยศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดทำแบบเบื้องต้น ICD ฉะเชิงเทรา และศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม รวมทั้งศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ
แบบไร้รอยต่อระหว่าง ICD ฉะเชิงเทรา และ 3 ท่าเรือหลักดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการ
โดยเริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม –17กุมภาพันธ์ 2562 รวมระยะเวลา 9 เดือน

“การดำเนินการศึกษาดังกล่าวจะทำให้โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับ EEC
มีความเหมาะสมในทุกๆ มิติ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านของการลดความแออัดของสถานีขนส่งสินค้า
คอนเทนเนอร์ ลาดกระบัง พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ผลักดันให้เกิดการ
Shift Mode หรือเปลี่ยนถ่ายการขนส่งคอนเทนเนอร์สู่ระบบราง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และส่งเสริมให้ EEC เป็นประตูการค้าของอาเซียน รวมถึงยกระดับประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ
ระดับโลกต่อไป” นายชัยวัฒน์กล่าว