โฉมใหม่ “คลองลาดพร้าว” เขื่อนป้องน้ำท่วม-ชุบชีวิตชุมชน

หลัง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ได้ฤกษ์ตอกเข็ม โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว ความยาว 45.3 กม. ด้วยวงเงิน 1,645 ล้านบาทไปเมื่อเดือน ก.พ. 2559

ล่าสุด “จักกพันธุ์ ผิวงาม” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ มีพื้นที่โครงการก่อสร้างที่ส่งมอบแล้ว ความยาว 22,370 เมตร และพื้นที่โครงการก่อสร้างที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ความยาว 22,931 เมตร

ปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถดำเนินการตอกเสาเข็มได้ทั้งหมด 23,276 ต้น จากทั้งหมด 60,000 ต้น คิดเป็น 38.79% ความยาวเขื่อนที่ตอกเสาเข็มได้ 17,605 เมตร มีผลงานทั้งโครงการคืบหน้า 32.80% ล่าช้าจากแผนงาน 78%

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว มีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในแนวพื้นที่ทั้งหมด 3,752 หลัง โดยยินยอมเข้าร่วมโครงการ 3,282 หลัง ไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ 470 หลัง ขณะนี้สามารถดำเนินการรื้อย้ายบ้านได้แล้ว 1,317 หลังยังเหลือไม่ได้รื้อย้ายอีก 1,965 หลัง

โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเขตในพื้นที่โครงการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ และให้สำนักการระบายน้ำติดตามโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกำชับผู้รับเหมาให้เร่งตอกเสาเข็ม ติดตั้งแผงกันดินและก่อสร้างทางเดินเท้าในพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รื้อย้ายบ้านรุกล้ำออกไปแล้ว เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามสัญญาในเดือน มิ.ย. 2562

ทั้งนี้โครงการเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมพื้นที่ 8 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตวังทองหลาง ห้วยขวาง ลาดพร้าว จตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และสายไหมและเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มพื้นที่ในการรองรับน้ำได้มากขึ้น

จากเดิมคลองลาดพร้าวมีความกว้างประมาณ 15-20 เมตร จะมีความกว้างมากขึ้นถึง 35 เมตร ส่วนระดับความลึกเดิมประมาณ -1 เมตร จะขุดลอกคลองให้ได้ระดับความลึกประมาณ -3 เมตร สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองลาดพร้าว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“จากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าพบว่าพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว บริเวณเขตสายไหม มีความยาวประมาณ 7 กม. ขณะนี้ประชาชนที่บ้านเรือนอยู่ในแนวพื้นที่ให้ความร่วมมือรื้อย้ายออกไปจนหมดแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน ในการก่อสร้างเขื่อนบริเวณนี้ให้แล้วเสร็จ และจะเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบในการพัฒนาคลองลาดพร้าวต่อไป”

สิ่งสำคัญของโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อการป้องกันน้ำท่วมและการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย แต่วัตถุประสงค์ของรัฐบาลต้องการให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าว ได้มีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในแนวคลองดีขึ้น