“จุฬา”ยกเครื่องสยามสแควร์ ดึงเอกชนลงทุน”สมาร์ทซิตี้”

ทรัพย์สิน จุฬาฯ ยกเครื่องนโยบายปลุกสยามสแควร์ จัดโซนนิ่งพัฒนาที่ดินใหม่ 291 ไร่ เดินหน้าผุดมิกซ์ยูส สร้าง “วอล์กกิ้งสตรีต-สมาร์ทซิตี้” เปิดทางเอกชนลงทุน สร้างอาคารที่จอดรถอีก 800 คัน เร่งจัดระเบียบคน-ร้านค้า-จราจร หวังชุบชีวิต “สยามสแควร์วัน” คึกคักต่อเนื่อง 

 

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ วางทิศทางการพัฒนาที่ดินทำเลสยามสแควร์ไว้ 3 รูปแบบคือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งแผนงานระยะสั้นจะเริ่มจัดโซนนิ่งใหม่ โดยวางพื้นที่ในแต่ละโซนให้คนเข้าถึงมากที่สุด เช่น บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ร้านค้าไหนที่คนนิยมมากก็จะให้อยู่บริเวณชั้นล่างหรือบริเวณด้านใน เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเดิน หรืออาจสลับพื้นที่ให้ร้านที่เป็นเดสติเนชั่นที่ลูกค้าต้องเข้าไปซื้ออยู่แล้ว ย้ายไปอยู่ด้านใน หลังมีการจัดโซนพื้นที่ใหม่แล้ว จะเห็นว่า ทราฟฟิกในโครงการสยามสแควร์วันมีคนเดินมากขึ้น

เช่นเดียวกับการบริหารพื้นที่ย่านสยามสแควร์โดยรวม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะเช่าเฉพาะพื้นที่ด้านล่างหรือชั้นเดียวกับด้านหน้า ซึ่งสำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้คิดวิธีใหม่ที่จะบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย ทั้งคู่ค้าผู้เช่าอาคารและบริหารพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ ผลปรากฏว่า ล่าสุดเริ่มมีคนใหม่ ๆ เข้ามาเช่าพื้นที่มากขึ้น ทำให้บรรยากาศเกิดความคึกคัก โดยเฉพาะพื้นที่ชั้น 2-3-4 ที่เดิมเป็นพื้นที่ว่างก็สามารถเพิ่มปริมาณพื้นที่คนเช่าได้แล้ว

ปลุกวอล์กกิ้งสตรีต 

ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ฉายภาพต่อเนื่องว่า ส่วนแผนพัฒนาระยะกลาง มีนโยบายจะสร้างวอล์กกิ้งสตรีตให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งทำเลสยามสแควร์สามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุดทุกกลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับภาพรวมของย่านสยามสแควร์ที่มีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้วก็จะมีมากยิ่งขึ้น

“ยอมรับว่า ปัจจุบันการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำเลสยามสแควร์ค่อนข้างปะปนกัน ทั้งรถ ถนน และคนเดิน แต่หลังจากนี้ทรัพย์สิน จุฬาฯ จะจัดพื้นที่ใหม่ทั้งหมด”

ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ มีนโยบายจะลงทุนโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ พร้อมสร้างอาคารที่จอดรถเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 800 คัน ขณะนี้ได้เริ่มเคลียร์พื้นที่เดิมที่เป็นลานจอดรถ ฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าเอ็มบีเค (มาบุญครอง) เรียบร้อยแล้ว เพื่อสร้าง “วอล์กกิ้งสตรีต” พร้อมแผนผลักดันให้รถยนต์ที่เคยจอดอยู่บริเวณชั้นล่างทั่วไปให้ขึ้นไปจอด ณ อาคารที่จอดรถ เพื่อสร้างระเบียบการจราจรภายในใหม่ไปในตัว

“แผนงานระยะกลางดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปี 2563 ซึ่งอาคารใหม่สามารถรองรับการจอดรถจากเส้นพญาไท และรองรับรถที่เคยจอดในลานสยามสแควร์ได้ด้วย ส่วนรถที่วิ่งมาจากเส้นอังรีดูนังต์ก็สามารถเข้าที่จอดรถได้ที่ตึกสยามกิตติ์เช่นเดิม” 

เมื่อปรับการจราจรในภาพรวมได้แล้ว ลานตรงนี้ก็จะเป็นวอล์กกิ้งสตรีตอย่างแท้จริง เพื่อรองรับไลฟ์เลิร์นนิ่งของทุกคนที่ต้องการทำกิจกรรม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ในย่านสยามสแควร์ผ่านรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งโมเดลโรงภาพยนตร์ลิโด ถือเป็นหนึ่งในแนวทางทางการทำธุรกิจที่สำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ ต้องการการพัฒนาพื้นที่โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้มีกลิ่นอายของสยามสแควร์ในสมัยก่อน เพราะ ณ ที่แห่งนี้นับเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของคนทุกรุ่น

ลงทุนโคเวิร์กกิ้งสเปซ 

นอกจากนี้ สำนักทรัพย์สิน จุฬาฯ ยังมีโครงการลงทุน “ครีเอทีฟ แอนด์ สตาร์ตอัพรีเลชั่น” ซึ่งเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่าด้วย โดยจะโฟกัสกลุ่มสตาร์ตอัพเป็นหลัก เพื่อรองรับกลุ่มนักธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต้องการพื้นที่ออฟฟิศใจกลางเมืองที่ราคาค่าเช่าไม่แพง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2562 พร้อมเปิดให้บริการในตุลาคมปีนี้

“ที่ตั้งโคเวิร์กกิ้งสเปซของจุฬาฯ ทำเลจะอยู่แถวสามย่าน-พระราม 4 (ใกล้สถานีดับเพลิง) เป็นอาคาร 3 ชั้น คิดว่าจะก่อสร้างได้เร็ว เสน่ห์ของตึกนี้คือ ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการสามารถทำงานดึกได้ เข้าสายได้ จะออกแบบให้มีความยืดหยุ่น เป็นชั่วโมงการทำงานที่มีคนหมุนเวียนเข้าออกตลอด 24 ชั่วโมง”

นอกจากนี้ พื้นที่ตรงสวนสามย่านซึ่งใหญ่กว่าสยามสแควร์ 4-5 เท่า จะทยอยพัฒนาเป็นเมืองในแต่ละเฟสต่อเนื่องกันไป ภายใต้นโยบายจะหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน

“จุฬาฯทำเองทุกอย่างไม่ได้ ต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมกันทำ เราเปิดคอนเซ็ปต์แบบนี้ก็มีคนสนใจอยากร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในหลากหลายธุรกิจที่มากขึ้น”

สมาร์ทซิตี้ บิ๊กโปรเจ็กต์

สำหรับแผนระยะยาวนั้น รศ.ดร.วิศณุกล่าวว่า จะเดินหน้าตามมาสเตอร์แพลน โดยการสร้าง “สมาร์ทซิตี้” รวมถึงแนวคิด “Futurium” คือ มิวเซียมฟอร์เดอะฟิวเจอร์ ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกันต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการให้คุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นที่รวมกันของคนทุกกลุ่ม เพื่อปั้นสามย่านให้เป็น “สมาร์ทซิตี้” อย่างแท้จริง

“มิวเซียมบ้านเราจะมองเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่มีมิวเซียมที่มองภาพถึงอนาคต สมาร์ทซิตี้ที่นี่เราจะร่วมกันสร้างเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ให้คนมีของเข้ามาลงทุน อีก 2-3 ปีจะเห็นภาพชัด ตอนนี้กำลังเดินสายคุยกับคนที่สนใจ”

โครงการสมาร์ทซิตี้จะอยู่ใกล้บริเวณพื้นที่สวน 100 ปีขนาดใหญ่ รวมถึงแผนลงทุนก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยอีก 2 อาคารข้างสวนด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

“เป้าหมายของเราไม่ใช่การสร้างรายได้ให้สูงสุด แต่ต้องการสร้างคุณค่าให้กับสังคมมากที่สุด ภายใต้การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กว่า 291 ไร่ใจกลางเมือง”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!