วัด “มลพิษ” จากสระบุรีถึง กทม. ฝุ่นทะลุค่ามาตรฐาน AQI 240

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ประกาศเตือนประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเกี่ยวกับ “มลพิษทางอากาศ” ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยหลายจังหวัดมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูงเกิน 100 นั่นหมายถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความหนาแน่นด้านการจราจร รวมไปถึงบริเวณตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ที่มีค่า AQI สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่ระดับ 249 ในช่วงวันที่ 10 มกราคม 2562 ก่อนจะลดลงมาในวันถัด ๆ มา ซึ่งแซงกรุงเทพฯ ที่มีค่าสูงสุดที่ระดับ 209 ในช่วงวันที่ 13 มกราคม 2562

โดยเมื่อพิจารณาพื้นที่หน้าพระลาน จังหวัดสระบุรีนั้น พบว่าค่า PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมโครกรัมนั้นสูงถึง 116 (ค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 50) ในขณะที่มีค่า PM10 หรือฝุ่นละอองที่มีขนาด 10 ไมโครกรัม (ค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 120) สูงสุดถึง 273 และเมื่อตรวจสอบย้อนหลังในปี 2560 พบว่ามีค่าสูงสุดสูงถึง 257 แต่ในส่วน PM2.5 มีค่าสูงสุดที่ 55 ในช่วงปี 2560 ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวมีค่าฝุ่นละอองขึ้นสูง เนื่องด้วยการทำอุตสาหกรรมหิน-ทราย การระเบิดหิน ไปจนถึงหนาแน่นไปด้วยรถบรรทุกขนหิน ดิน และทราย ทำให้ประสบกับค่ามลพิษที่สูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้จังหวัดที่มีค่า AQI สูงอันดับต้น ประกอบด้วย นครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี โดยบริเวณตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีค่า AQI สูงสุดเป็นอันดับ 3 ที่ 203 ในช่วงวันที่ 13 มกราคม 2562 ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครบริเวณอำเภอเมือง ริมถนนพระราม 2 เองมีค่า AQI สูงสุดที่ 203 ในวันที่ 13 มกราคม 2562 แม้ลดต่ำลงในวันถัด ๆ มาก็ตาม ทั้งนี้ในบริเวณอำเภอกระทุ่มแบนเองมีค่า AQI สูงแม้ไม่มากเกิน 200 แต่อยู่ในระดับ 142-180 ในช่วงวันที่ 11-15 มกราคม 2562

ในส่วนจังหวัดสมุทรสาครนั้น อาจสามารถอนุมานได้ว่าค่าที่ขึ้นสูงนั้น เนื่องมาจากอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมากในพื้นที่ ทว่าในปีที่ผ่านมากลับไม่มีการรายงานค่าคุณภาพอากาศของพื้นที่ดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ช่วงวันที่ 10 มกราคม 2562 มีค่า AQI ที่ 59 และขึ้นสูงสุดที่ 180 ในวันที่ 13 มกราคม 2562 ในขณะที่บริเวณริมถนนพระราม 2 อำเภอเมืองสมุทรสาคร มีค่า AQI เพียง 21 ในวันที่ 10 มกราคม 2562 และขึ้นสูงสุดถึง 203 ในวันที่ 13 มกราคม 2562 เช่นเดียวกับพื้นที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่มีค่า AQI ในวันที่ 10 มกราคม 2562 เพียง 50 ก่อนจะขยับขึ้นสูงสุดที่ 180 วันที่ 13 มกราคม 2562

ด้านอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในอดีต พบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยถูกบันทึกในรายงานค่าคุณภาพอากาศในปี 2560 สอดคล้องกับค่า AQI ในช่วงวันที่ 10 มกราคม 2562 ที่ระดับ 27 ก่อนจะขยับขึ้นสูงที่สุดในวันที่ 13 มกราคม 2562 ที่ 208 โดยเป็นค่า PM2.5 สูงสุดที่ 93 ในวันที่ 13 มกราคม 2562 และ PM10 สูงสุดที่ 160 ในวันที่ 13 มกราคม 2562 โดยนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้อธิบายว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอำเภอเมืองนครปฐม คาดว่าเกิดขึ้นจากไอเสียรถยนต์เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ทว่าสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะปิด ทำให้มลพิษสะสมจนขึ้นสูงตามที่ปรากฏ

นอกจากหลายจังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น จะมีค่า AQI ขึ้นสูงอย่างน่าใจหายแล้ว มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงปี 2559-2560 เองพื้นที่ที่มีค่าคุณภาพอากาศบ่งชี้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุดกลับเป็นพื้นที่ภาคเหนือ โดยตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่ที่มีค่า PM10 สูงถึง 268 ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ปี 2560 และเมื่อย้อนไปถึงปี 2559 พบว่าพื้นที่ที่มีค่า PM10 สูงสุดคือ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่มีค่าสูงถึงระดับ 320

อุบัติการณ์ของมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่กำลังเกิดในหลายพื้นที่ เกิดขึ้นจากปัจจัยการจราจร การก่อสร้าง และการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรที่ไม่อาจประเมินค่าได้ รวมถึงผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 13 มกราคม 2562 ซึ่งค่าดัชนีคุณภาพอากาศเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นข้อมูลที่บ่งบอกอย่างมีนัยสำคัญชัดเจนว่า ฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศเหล่านั้น ล้วนถูกผลิตขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์สะสมมาอย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือป้องกันภัยต่อปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดบ่อยขึ้นจนกลายเป็น “วิกฤตใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” ในอนาคต