ยกระดับมาตรฐานรถไฟฟ้าไทย สนข.ออก KPIการบริการ-แอปฯนำทาง-ปรับชื่อสถานี-ดีเดย์เม.ย.นี้กรมรางเกิด

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ได้นำเสนอผลการศึกษา “โครงการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน”โดยว่าจ้างมหาลัยมหิดล ทำการศึกษา คาดว่าภายในเดือนมี.ค.นี้จะสามารถส่งรายงานที่เป็นร่างสุดท้าย (Final Report) มาที่สนข.ได้

ปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการไปแล้ว 6 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สำโรง, ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า, ช่วงสำโรง – เคหะสมุทรปราการ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ, สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่ – เตาปูน และแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ พญาไท – สนามบินสุวรรณภูมิ โดยในอนาคตจะมีอีก 10 สายที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะทยอยเปิดจนครบทั้งหมดในปี 2568 ตามแผน M-MAP ที่ สนข.เคยจัดทำไว้ ประกอบกับผลการศึกษาจะแล้วเสร็จใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ สนข. กำลังผลักดัน “กรมการขนส่งราง” ขึ้นมาพอดี การศึกษาดังกล่าวจึงเป็นการรองรับหน่วยงานใหม่นี้ไปด้วยในทางหนึ่ง

กรอบการศึกษาของโครงการมีด้วยกัน 3 กรอบสำคัญ คือ 1. การกำหนดชื่อและรหัสของสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เน้นไปที่สถานีรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและสถานีที่เป็นสถานีร่วม (Interchange) เป็นหลัก เนื่องจากยังสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้ แต่จะไม่ไปเปลี่ยนชื่อในสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดใช้งานไปแล้ว

โดยเฉพาะ 4 จุดสำคัญ คือ BTSศาลาแดง-MRT สีลม, BTSหมอชิต-MRTสวนจตุจักร, BTSอโศก-MRTสุขุมวิท และMRT เพชรบุรี-APL มักกะสัน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความคุ้นชินกับชื่อสถานีไปแล้ว

เบื้องต้นจะพยายามกำหนดให้แต่ละสถานีมีชื่อที่เป็นไปในทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ เช่น สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียง หรือ ใกล้กับย่านหรือชื่อที่เป็นชื่อเฉพาะที่คนรู้จักทั่วไป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของสถานีด้วยว่า ตั้งอยู่บนทิศทางใด เช่น กรณีสถานีตั้งอยู่บนถ.สีลม ก็ต้องไปตรวจสอบว่าอยู่ริเวณใดของถนน โดยจะอ้างอิงรูปแบบของการตั้งชื่อสถานีในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น

@วัดKPIการบริการ

2. การกำหนดตัวชี้วัด (KPI) มาตรฐานการบริหารจัดการการเดินรถ เพื่อวัดระดับการให้บริการของรถไฟฟ้าในแต่ละสาย โดยจะใช้กับทั้งรถไฟฟ้าสายที่ให้บริการและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เบื้องต้นคณะทำงานได้กำหนดตัวชี้วัดไว้ 9 ข้อ

ได้แก่ 1. จำนวนครั้งที่ผู้โดยสารเดินทาง 2. จำนวนเที่ยวที่ให้บริการตรงเวลา โดยกำหนดระยะเวลาล่าช้าสูงสุดที่ 5 นาที/จำนวนเที่ยวทั้งหมดที่ให้บริการ (คิดเป็นร้อยละ) 3. จำนวนชั่วโมงที่ให้บริการตรงเวลา โดยกำหนดระยะเวลาล่าช้าสูงสุดไม่เกิน 5 นาที/จำนวนชั่วโมงทั้งหมดที่ให้บริการ (คิดเป็นร้อยละ)

4. จำนวนครั้งที่มีความล่าช้ามากกว่า 30 นาที 5. ระยะทางเดินรถในช่วงระหว่างที่เกิดความล่าช้าเกิน 5 นาที 2 ครั้ง 6. จำนวนเที่ยวที่ให้บริการ/จำนวนเที่ยวทั้งหใมดที่ให้บริการตามสัญญา 7. จำนวนรถที่มี/ตำนวนรถที่ให้บริการในช่วงเร่งด่วน 8.จำนวนเที่ยวของผู้โดยสาร/จำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงานภายในสถานี และ 9. ความพึงพอใจของผู้รับบริการ

และ 3. การทำแอปพลิเคชั่น BKK RAIL Application ซึ่งได้เปิดทดลองให้ดาวน์โหลดแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูลในรายละเอียดบางส่วน แอปฯจึงแสดงผลในลักษณะออฟไลน์ไไปก่อน ยังไม่สามารถแสดงผลแบบเรียลไทมืได้คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในเดือน มี.ค.นี้

โดยแอปนี้จะมีข้อมูลของสถานีรถไฟฟ้าทุกโครงการ สามารถวางแผนการเดินทางได้ โดยเลือกสถานีต้นทางและปลายทางที่ต้องการจะเดินทาง เมื่อเลือกแล้วแอปจะแสดงระยะทาง ราคาค่าโดยสารที่ต้องชำระ จำนวนสถานีที่จะต้องผ่าน ระยะเวลาการเดินทาง ทางออกที่มี สถานที่ใกล้เคียง สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เป็นต้นโดยในระยะต่อไปจะมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละสาย เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด มาแสดงในแอปแบบเรียลไทม์ต่อไป

@กรมรางมาแน่เม.ย.นี้

ผอ.สนข. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง)เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา อนู่ในขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรอการแก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ซึ่งกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นประกอบครบถ้วนแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาภายในเดือนก.พ.นี้ ก่อนที่ในเดือน เม.ย.จะมีการจัดวางอัตรากำลังภายในกรมฯจำนวนทั้งสิ้น 203 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 176 คน และพนักงานราชการอีก 27 ตำแหน่ง โดยขณะนี้มีพนักงานที่อยู่ประจำเพียง 42 ตำแหน่ง

สำหรับกฎกระทรวง 3 ฉบับดังกล่าว ได้แก่ กฎกระทรวงการแบ่งกลุ่มภารกิจงาน กฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการของกรมการขนส่งทางราง และกฎกระทรวงการแบ่งส่วนราชการของสนข. เพื่อยกเลิก “สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง” ที่ถูกยกฐานะเป็นกรมฯออก สำหรับที่ตั้งของกรมรางคาดว่าจะอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ตั้งของกระทรวงคมนาคมแห่งใหม่ที่ย่านพหลโยธิน

ภารกิจแรกที่ต้องทำ คือจะต้องรอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ประกาศใช้ก่อน เพื่อดำเนินการวางมาตรฐานและความปลอดภัย และเตรียมกฎหมายลูกสำหรับรองรับ พ.ร.บ.กรมรางฉบับใหม่ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้ว 70% และจะประกาศใช้ได้ประมาณเดือน ธ.ค. นี้ และจะมีการเรียกบรรดาผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางมาพูดคุยทำความเข้าใจ ก่อนที่พ.ร.บ.กรมรางจะประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น ในช่วงแรกอาจจะต้องรอให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละสายหมดอายุลงก่อน กรมรางจึงจะเข้าไปกำกับดูแลได้

“กรมรางไม่ได้ดูแค่รถไฟฟ้า แต่จะดูทั้งรถไฟปกติ และรถไฟความเร็วสูงด้วย ดังนั้นความสะดวก ปลอดภัย ค่าโดยสาร มาตรฐานการเดินรถและซ่อมบำรุง พูดง่ายๆกรมรางจะเป็นผู้กำหนดกติกาทั้งหมด ส่วน ร.ฟ.ท.และรฟม.ก็จะเป็นผู้โอปอเรเตอร์ไป ตอนนี้ก็ถือว่ามาเกิน 60% เหลือแค่พ.ร.บ.ประกาศใช้ก็จะสามารถดำเนินการได้ 100% เต็ม”