ส่อเลื่อน! เอกชนขอขยับวันยื่นซองประมูลอู่ตะเภาจาก28ก.พ. เป็น 30 เม.ย.เฮโลสารพัดคำถามไขข้อข้องใจ

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเพื่อชี้แจงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท ครั้งที่ 2 เป็นไปอย่างคึกคัก มีตัวแทนของเอกชนที่มาซื้อประมูลเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ร่วม 31 บริษัท จากทั้งหมดซื้อเอกสาร 42 ราย

โดยคณะกรรมการคัดเลือกทั้งฝ่ายกองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ต่างปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งที่จะผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

สำหรับเอกชนไม่มา 11 บริษัท ประกอบด้วย

China GeZhouBa Group (จีน), บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (จีน) บจ.ไชน่า รีสอร์ซ (โฮลดิ้ง) คอมปะนี (จีน) GMR Group Airport (อินเดีย), JALUX Inc (ญี่ปุ่น), Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) (ญี่ปุ่น), AviAlliance (เยอรมนี), Malaysia Airports Holding Berhad (มาเลเชีย), บจ.คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง

บรรยากาศการชี้แจงข้อมูลของคณะที่ปรึกษาต่อโครงการนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เอกชนมีหลายคำถามที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น ขอให้เลื่อนการยื่นซองประมูลออกไป จากเดิมวันที่ 28 ก.พ. เป็นวันที่ 30 เม.ย.แทน เพราะเอกชนมองว่าระยะเวลาที่ให้มานับตั้งแต่วันนี้ (8 ก.พ.) สั้นเกินไป จึงขอให้เลื่อนการยื่นซองออกไปก่อน โดยที่ปรึกษาได้รับข้อเสนอไว้ก่อน เพื่อนำมาหารือกับคณะกรรมการคัดเลือกให้ความเห็นชอบต่อไป แต่เบื้องต้นขอให้ยึดวันที่ 28 ก.พ.ไปก่อน

ส่วนคำถามที่จะขอใช้ประสบการณ์ผู้รับจ้าง สามารถทำได้หรือไม่นั้น ที่ปรึกษาระบุว่า สามารถทำได้ แต่หากโครงการมีปัญหาเกิดขึ้นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบร่วมกับเอกชนเจ้าของโครงการด้วยในลักษณะผู้รับผิดชอบร่วม

ขณะที่ประเด็นการให้รัฐอุดหนุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากทีโออาร์ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรืออื่นๆ นั้น ในขณะนี้รัฐไม่สามารถทำได้ เพราะในทีโออาร์ระบุไว้แล้วว่า รัฐจะร่วมลงทุนในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท หอบังคับการบิน เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท และโครงสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ของสนามบิน เงินลงทุน 6,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่สามารถทำได้

ขณะที่ความชัดเจนของการปรับบทบาทอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1-2 (Terminal 1-2) ภายในสนามบิน ที่กองทัพเรือเป็นเจ้าของนั้น เอกชนมีความกังวลว่า หากยังเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไปเรื่อยๆ อาจจะกระทบกับ Terminal 3 ที่เอกชนจะต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก ที่ปรึกษาชี้แจงว่า เมื่อ Terminal 3 ก่อสร้างแล้วเสร็จ Terminal เดิมทั้งสองอาคารจะถูกปรับบทบาทไปใช้สำหรับรองรับเครื่องบินส่วนบุคคล (General Aviation) และบุคลากรระดับ VIP ของประเทศ เช่น พระราชอาคันตุกะ, เอกอัครราชฑูต และคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

เอกชนมีคำถามต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังลงนามในสัญญา นอกจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) แล้ว เอกชนสามารถนำรัฐวิสาหกิจอื่นๆ มาร่วมด้วยได้หรือไม่ คณะที่ปรึกษาระบุว่า ในขณะนี้อนุญาตให้เฉพาะ ทอท.เท่านั้น ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ แต่เอกชนจะเสนอเข้ามาก่อนก็ได้ เพราะคณะกรรมการาคัดเลือกจะเป็นผู้พิจารณา

ส่วนแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2-3 จะส่งผลกับตัวเลขประมาณการของสนามบินอู่ตะเภาที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 60 ล้านคน/ปีนั้น คณะที่ปรึกษาชี้แจงว่า โครงการพัฒนาของสนามบินสุวรรณภูมิมีแผนรองรับเฉพาะประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น ไม่ได้กินความรวมถึงพื้นที่อีอีซี ซึ่งสนามบินอู่ตะเภารองรับประชาชนในพื้นที่อีอีซีโดยเฉพาะ และเชื่อว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเป็นไปตามที่ประมาณการเอาไว้