จ้าง 98 ล้านออกแบบรายละเอียดรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง “รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะ”

จ้าง 98 ล้านออกแบบรายละเอียดรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง “รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะ” ปีนี้เปิด PPP 4 หมื่นล้าน ลุ้นภูเก็ตคลอดไตรมาส 3

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2562 รฟม.ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัท ประกอบด้วย ได้แก่ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท พี เอส เค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยาลัยนเรศวร วงเงิน 98.2 ล้านบาท

เพื่อศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี จะใช้เวลาดำเนินการ 12 เดือน คาดว่าจะเริ่มต้นในเดือน มี.ค.นี้เป็นต้นไป

สำหรับขอบเขตของงานจ้างประกอบด้วยเนื้องาน 2 ส่วน คือ งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษา และวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ 2556 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับงานจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และเอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า งานบำรุงรักษาและงานให้บริการเดินรถ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556

“มติคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบกครั้งที่ 1 เมื่อปี 2561 มีมติให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการศึกษารูปแบบ PPP ที่เหมาะสมกับโครงการนี้ จะเร่งที่ปรึกษาให้จัดทำรายงาน PPP ให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้ เพื่อนำเสนอให้บอร์ด กระทรวงคมนาคม บอร์ด PPP และ ครม.อนุมัติโครงการต่อไป จะใช้โมเดลเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง สายสีส้มตะวันตกและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ให้เอกชนร่วมลงทุนงานโยธาและงานระบบและรับสัมปทานโครงการ 30 ปี ส่วนรัฐออกค่าใช้จ่ายเวนคืนที่ดิน คาดว่าปลายปีจะเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่ามลงทุนได้”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นที่สำนักงานนโบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมไว้จะใช้เงินลงทุนโครงการประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการสำรวจการเวนคืนที่ดิน ซึ่งที่ปรึกษาจะต้องไปทบทวนผลการศึกษาและประเมินมูลค่าโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่ราคาที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น การเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะทำให้มูลค่าการลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 30,000-40,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับใต้ดินและระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือ-ใต้ ระยะทางประมาณ 12.54 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดินประมาณ 7-8 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

ตลอดเส้นทางมี 12 สถานี ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง (แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)

นายภคพงศ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าในจังหวัดภูมิภาค ในส่วนของรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ตยืนยันจะไม่มีการปรับเส้นทางตามที่นักธุรกิจในจังหวัดมีข้อเสนอแนะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน PPP แล้วเสร็จเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณา และหารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ปรับรูปแบบก่อสร้างบางช่วงที่เป็นบริเวณแยก เพื่อก่อสร้างเกือกม้ากลับรถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชาชนในจังหวัด ซึ่งอาจจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 34,827 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เป็นรูปแบบ PPP net cost 30 ปี ส่วนรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมาและพิษณุโลก อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาโครงการ