ทุ่ม 1.3 ล้านล้านอัพเกรดถนนทั่วไทย สร้าง “มอเตอร์เวย์” 2,796 กม.

แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 20 ปี (2560-2579) ที่กรมทางหลวงขีดแนวไว้ 21 สายทาง ระยะทาง 6,612 กม. ใช้เงินลงทุน 2.14 ล้านล้านบาท ที่ศึกษาเสร็จไปแล้วหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุดกำลังมีการเขย่าเส้นทางให้สามารถดำเนินการได้เร็วและใช้เงินลงทุนน้อยลง โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาโมเดลการพัฒนาใหม่

จะปรับปรุงแนวถนนสายหลักในปัจจุบันที่มีแนวเส้นทางตามแนวเส้นทางของแผนแม่บทและมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้เป็นมอเตอร์เวย์ได้ จากการวิเคราะห์พบว่า มี 7 สายทาง 17 ตอน ระยะทางรวม 2,796 กม.

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาถนนสายหลักเดิม ให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบมอเตอร์เวย์ จะประเมินจากแผนแม่บทเดิมของกรมทางหลวง จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,612 กม. ที่ใช้เงินลงทุนรวม 2.14 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเสียไปกับค่าเวนคืน สำนักงบประมาณมีข้อดำริว่า งบประมาณของรัฐมีจำกัด จึงอยากให้ สนข.ไปศึกษาดูว่าจะสามารถลดต้นทุนการสร้างมอเตอร์เวย์ตามแผนแม่บทของกรมทางหลวงได้หรือไม่

ทั้ง 21 เส้นทาง 56 ช่วงโครงการ สามารถใช้เขตทางของกรมทางหลวงก่อสร้างได้ 17 เส้นทาง ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะเสร็จช่วงปลายปีนี้ มีโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว และช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก

“การศึกษาพบว่าลดต้นทุนค่าก่อสร้างได้ 10-15% และจะช่วยลดการเวนคืนที่ดินได้อย่างน้อย 30-40% อีกทั้งทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเวนคืน ส่วนเรื่องการลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุยังยึดตามผลการศึกษาเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าดีอยู่แล้ว”

เมื่อศึกษาเสร็จแล้วจะส่งไปให้กระทรวงคมนาคมภายในปีนี้ อาจจะมีการสั่งการให้กรมทางหลวงนำไปประยุกต์ใช้ และจะทำรายงานถึงสำนักงบประมาณ เพื่อรับทราบถึงประสิทธิภาพของผลการศึกษา คาดว่าทั้งหมดจะเสนอได้ภายในปีนี้

นายชยธรรม์กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะ 3 ปี เช่น สายบางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น จะเกี่ยวข้องกับโครงการที่ยังอยู่ในขั้นตอนทำผลศึกษาต่าง ๆ เพราะเมื่อผลการศึกษาระบุให้มีการแก้ไขจะได้ไม่ส่งผลกระทบกับกรอบเวลาของโครงการ แต่โครงการไหนที่ออกแบบรายละเอียดแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับ 17 ช่วง ระยะทางรวม 2,795 กม. ได้แก่ 1.สาย M2 ช่วงตาก-พิษณุโลก ระยะทาง 123 กม. 2.สาย M2 ช่วงพิษณุโลก-เพชรบูรณ์ ระยะทาง 121 กม. 3.สาย M2 ช่วงเพชรบูรณ์-ขอนแก่น ระยะทาง 189 กม. 4.สาย M5 ช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 110 กม.

5.สาย M5 ช่วงพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ ระยะทาง 94 กม. 6.สาย M5 ช่วงอุตรดิตถ์-ลำปาง ระยะทาง 140 กม. 7.สาย M6 ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 186 กม. 8.สาย M6 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 161 กม. 9.สาย M8 ช่วงชะอำ-ชุมพร ระยะทาง 296 กม.

10.สาย M8 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 172 กม. 11.สาย M8 ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ ระยะทาง 306 กม. 12.สาย M8 ช่วงหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระยะทาง 226 กม. 13.สาย M61 ช่วงชลบุรี-ปราจีนบุรี ระยะทาง 117 กม. 14.สาย M61 ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 172 กม. 15.สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ-สระแก้ว ระยะทาง 156 กม. 16.สาย M72 ช่วงชลบุรี-อ.แกลง ระยะทาง 100 กม. และ 17.สาย M72 ช่วง อ.แกลง-ตราด ระยะทาง 126 กม.

จากการปรับปรุงใหม่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืน 46,757 ล้านบาท ค่าก่อสร้างกว่า 1.26 ล้านล้านบาท โดยลดค่าก่อสร้างจากแผนแม่บทเดิมลง 69,643 ล้านบาท และค่าเวนคืนได้ 50,371 ล้านบาท

สำหรับโครงการนำร่องสายกรุงเทพฯ-สระแก้ว จะปรับปรุงถนนเดิม 161 กม. และสร้างใหม่ 95 กม. จะใช้เงินก่อสร้าง 78,044 ล้านบาท และค่าเวนคืน 15,246 ล้านบาท ส่วนช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก จะปรับปรุงถนนเดิม 138 กม. และสร้างทางใหม่ 20 กม. จะใช้ก่อสร้าง 53,165 ล้านบาท ค่าเวนคืน 1,614 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในแผน 20 ปีของกรมทางหลวง ใน 5 ปีแรก (2561-2565) มี 4 เส้นทางที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ สายบางปะอิน-โคราช, พัทยา-มาบตาพุด, บางใหญ่-กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ-มหาชัย

ถัดไปอีก 5 ปี (2564-2567) มี 5 เส้นทาง เป็นการปรับเลื่อนระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างออกไป ได้แก่ ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน, สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ, สายนครปฐม-ชะอำ, ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และปีที่ 6-10 มีสายบางปะอิน-นครสวรรค์ และกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน ซึ่งขยับมาจากช่วง 5 ปีแรก