29 ก.ค.ได้นั่งรถไฟฟ้าลอดเจ้าพระยา ชงครม.ใหม่อัด2หมื่นล.เร่งมอเตอร์เวย์-สายสีแดง

2 เมกะโปรเจ็กต์ “รถไฟฟ้าสายสีแดงและมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี” รอรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อัดฉีดงบฯ 17,600 ล้านบาท จ่ายเวนคืนผู้รับเหมาก่อสร้างสางปัญหาเร่งเดินหน้าโครงการ ร.ฟ.ท.ยังคงเป้าเปิดบริการสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันเป็น ม.ค. 64 กรมทางหลวงสปีดมอเตอร์เวย์บางใหญ่ไม่ขึ้นเลื่อนเปิดใช้ คนฝั่งธนฯเฮ ! รฟม.ให้ประชาชนทดลองนั่งสายสีน้ำเงิน 29 ก.ค.จากหัวลำโพง-ท่าพระ เปิดหวูดจริง ก.ย.นี้ ค่าโดยสาร 16-42 บาท

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างทำรายละเอียดการเพิ่มงบประมาณก่อสร้างของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่จะขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายกรอบวงเงินโครงการจำนวน 9,600 ล้านบาท หลังกระทรวงคมนาคมให้ ร.ฟ.ท.กลับมาทำข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา ยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติได้เร็วหรือช้า หากได้รับอนุมัติจะเป็นการเพิ่มงบฯก่อสร้างรอบที่ 5 ทำให้โครงการใช้งบฯก่อสร้างทั้งหมดจาก 95,222 ล้านบาท เป็น 104,822 ล้านบาท

รับเหมาขอขยายสัญญา

สำหรับวงเงินเพิ่มขึ้น 9,600 ล้านบาทมาจากการขยายเวลา งานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นไม่ได้อยู่ในแบบตั้งแต่แรก แยกเป็นสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง มีความคืบหน้าประมาณ 90% ขอขยายเวลาถึงเดือน พ.ย. 2562 ขอค่าชดเชยประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างของ ร.ฟ.ท.ออกจากพื้นที่และปลูกสร้างขึ้นใหม่มาแทน เช่น ย้ายตึกบริการสินค้า ย้ายพวงราง ส่วนใหญ่เป็นงานที่เพิ่มขึ้นจากแบบเดิมที่ไม่ได้ดำเนินการไว้ตั้งแต่แรก

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้าม มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีความคืบหน้า 99% ขอขยายถึงเดือน ต.ค. 2562 เนื่องจากติดส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสกายวอล์ก ขอค่าชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาท

งานระบบจ่ายภาษีอาน

และสัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบและจัดหาขบวนรถของกลุ่มร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ เฮฟวี่-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) มีความคืบหน้าประมาณ 50% ขอขยายสัญญาถึงเดือน ม.ค. 2564 วงเงินที่ขอเพิ่มประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านภาษีและสร้างอาคารเพิ่มจำนวน 6 อาคารที่บางซื่อ เพื่อรองรับงานในสัญญาที่ 3

“การของบฯก่อสร้างเพิ่มไม่ได้มีผลต่อการเปิดบริการโครงการที่กำหนดในเดือน ม.ค. 2564 แต่อาจจะส่งผลต่อการเบิกจ่าย ซึ่งโครงการใช้เงินกู้จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) มาดำเนินการ นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ต้องจัดงบฯกว่า 100 ล้านบาท สำหรับซ่อมบูรณะโครงสร้างช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อรองรับกับการเปิดบริการด้วย เพราะโครงสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555”

เข็นเปิดบริการ ธ.ค. 63

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในเดือน ต.ค.นี้รถ 2 ขบวนแรกจะมาถึงประเทศไทย จากนั้นเริ่มทดสอบตัวรถเพื่อนำไปวิ่งบนรางจริงในช่วงต้นปี 2563 ล่าสุดมีนโยบายให้เปิดใช้ช่วงปลายปี 2563 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้สั่งซื้อรถทั้งหมด 130 ตู้ จำนวน 25 ขบวน สำหรับวิ่งทั้งสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 ขบวน เป็นรถแบบ 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 15 ขบวน เป็นรถแบบ 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน ซึ่งเป็นขบวนรถไฟฟ้าวิ่งบนราง 1 เมตร มีระบบสายส่งไฟฟ้าอยู่เหนือศีรษะ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ซึ่งระบบอาณัติสัญญาณจะใช้ระบบ ETCS ตามมาตรฐานยุโรปที่สามารถใช้ได้กับหลายระบบ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ระหว่างรอการอนุมัติขยายกรอบวงเงินก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 9,600 ล้านบาท จะใช้เงินที่ยังมีเหลืออยู่สำหรับดำเนินการไปก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างและการเปิดบริการที่จะเร่งให้เปิดใช้ปลายปี 2563 หรืออย่างช้าในเดือน ม.ค. 2564

เร่งปิดบัญชี – เผือกร้อนรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่เร่งด่วนตอนนี้มีดับไฟค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี และเพิ่มงบฯก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่รอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เห็นชอบขยายกรอบเวลา งานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุงของสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ออกไปอีก 70 วัน ทำให้กำหนดแล้วเสร็จเดิมที่วางไว้ในเดือน พ.ย.นี้ขยับออกไปแล้วเสร็จประมาณเดือน ม.ค. 2563 โดยการขยายเวลานี้จะไม่กระทบกับงานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาตู้รถไฟฟ้า แต่อย่างใด

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.เตรียมร่างทีโออาร์เปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งเชิงพาณิชย์ ร้านค้า และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสะอาด การบริการด้านจอดรถ รองรับการเปิดบริการในปี 2564

มอเตอร์เวย์บางใหญ่รอค่าเวนคืน

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. เพิ่มจาก 5,420 ล้านบาท เป็น 19,637 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14,217 ล้านบาท กรมจะนำงบประมาณจากการประหยัดค่าก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท และขอจาก ครม.ประมาณ 8,000 ล้านบาท มาจ่ายให้กับผู้ถูกเวนคืนที่ยังเหลือกว่า 3,000 ราย

ปัจจุบันกรมรอเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะต้องทำเรื่องเสนอกลับเข้าไปใหม่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่จะเป็นผู้นำเสนอ อาจจะใช้เวลาในการพิจารณาและส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการ ซึ่งปัจจุบันล่าช้าไปแล้วรวม 2 ปี เพราะผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้เกือบ 50% จากทั้งหมด 25 สัญญา เนื่องจากติดเวนคืนที่ดิน

ทั้งนี้ จากความล่าช้ามีการประเมินว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดใช้ เพราะกว่ากรมทางหลวงจะเวนคืนเสร็จน่าจะเป็นภายในปี 2564 สร้างเสร็จปี 2566 เปิดใช้ปี 2568

29 ก.ค.เปิดทดลองสายสีน้ำเงิน

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ได้เริ่มการทดลองเดินรถเสมือนจริง (trail run) เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฟรีในวันที่ 29 ก.ค.นี้ จากสถานีหัวลำโพง-ท่าพระก่อนในระยะแรก โดยจะเปิดให้นั่งเป็นช่วงเวลา

เนื่องจากผู้เดินรถต้องการสร้างความมั่นใจในการให้บริการ หลังจากนั้นถึงจะเปิดบริการไปถึงสถานีหลักสอง และเปิดให้บริการจริงวันที่ 30 ก.ย.นี้ตามที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้กำหนดไว้ในสัญญา

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การเดินรถในช่วงทดลองใช้บริการนี้จะใช้รูปแบบวิ่งไป-กลับ เฉพาะในส่วนต่อขยาย ซึ่งผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนขบวนรถได้ที่สถานีหัวลำโพง กรณีต้องการเดินทางต่อเนื่องไปยังสายสีน้ำเงินเดิม (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ)

ทั้งนี้ เมื่อ รฟม.มีความมั่นใจว่าระบบอาณัติสัญญาณของเส้นทางเดิมและส่วนต่อขยายปรับเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงจะปรับไปใช้รูปแบบการเดินรถแบบต่อเนื่อง ต่อไปในอนาคต ซึ่งสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้จะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และคาดว่าหลังเปิดบริการเต็มรูปแบบทั้งโครงข่ายในเดือน มี.ค. 2563 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 3 แสนเที่ยวคนต่อวัน เป็น 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารเก็บอัตราเดิม 16-42 บาท