โมเดล EEC ปั้นเขตศก.ใต้ 6 แสนล. “ประชัย “คัมแบ็กฟื้น “นิคมจะนะ”

pixabay

รัฐดันเขต ศก.พิเศษชายแดนใต้เต็มสูบ “ทีพีไอ-ไออาร์พีซี”หัวหอก บีโอไอให้สิทธิประโยชน์ลงทุนสูงสุด ก๊อปปี้โมเดลอีอีซี ผุด 4 โปรเจ็กต์ยักษ์ 6 แสนล้าน ท่าเรือพาณิชย์-ท่องเที่ยว เกตเวย์แห่งที่ 3 รถไฟเชื่อมท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก-นิคมจะนะรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โอนอำนาจสารพัดกฎหมายให้ ศอ.บต.คุมเบ็ดเสร็จ

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล และจากที่หน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนได้หารือกัน

ล่าสุดมีแผนจะผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้าแห่งใหม่ขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เรื่องการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งจะลงทุนโดยภาคเอกชน หากโมเดลนี้สำเร็จจะขยายไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 14 แห่ง เช่น สะเดา สงขลา เทพา หนองจิก ปัตตานี เขตพิเศษนราธิวาส เบตง ฯลฯ

3 บิ๊กตุนที่ดินผุดนิคมใหม่

การดำเนินการส่วนนี้เป็นความร่วมมือของบริษัทเอกชน 3 ราย ซึ่งได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 ประมาณ 10,800 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ 7,000 กว่าไร่ และกลุ่ม บมจ.ปตท. โดย บมจ.ไออาร์พีซี มีที่ดิน 3,000 กว่าไร่ โดยเอกชนทั้ง 3 รายจะร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้น ก่อนหน้านี้ นายประชัยเสนอว่า ปัจจุบันมีบริษัทอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางของจีนสนใจที่เข้ามาลงทุนโครงการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ของระบบรางรถไฟ และหัวรถจักร มูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ที่จะเชื่อมเข้ามาในมาเลเซีย ทั้งโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมฝั่งตะวันออก (ECRL) และสายเหนือ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียลงนามในสัญญาเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน

ยื่นขอ BOI ลงทุน 6 แสนล้าน

ขณะที่ไออาร์พีซีอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทจากเกาหลี เพื่อลงทุนโครงการอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก (energy complex) มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท เบื้องต้นภาครัฐได้กำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแบตเตอรี่โซน เป็นเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ปลูกพืชอุตสาหกรรมป้อนอุตสาหกรรมชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้า รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งในอนาคตความต้องการใช้ไฟอย่างน้อย 2,813 เมกะวัตต์ ล่าสุดภาคเอกชนได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้า ไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว รวมมูลค่าลงทุน 600,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ถึงปี 2565

ให้สิทธิมากกว่า EEC

สำหรับเอกชนที่มาลงทุน การให้สิทธิประโยชน์พื้นที่โครงการต้นแบบจะใช้มาตรการเดียวกับเมืองต้นแบบที่ออกมาตั้งแต่ปี 2559 แต่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มสูงสุดตามเงื่อนไข BOI และมากกว่าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เรียกว่า BOI Plus +เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกระทรวงการคลัง เช่น ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียภาษี เพราะจะทำเป็นเขต Free Trade Zone แต่สามารถนำมูลค่าของเงินลงทุนไปลดภาษีร่วมในโครงการลงทุนในพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ อีกทั้งกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ร้อยละ 1.5 ให้ผู้ลงทุน ซึ่งขณะนี้มีวงเงินขั้นต้นแล้ว 25,000 ล้านบาท และสามารถขยายวงเงินเพิ่มได้

“โครงการนี้เอกชนจะลงทุนทั้งหมด โดยรัฐไม่เกี่ยวข้อง รัฐเพียงแค่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ออกใบอนุญาต ประสานงานเชื่อมแผนการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ฯลฯ

4 โปรเจ็กต์ยักษ์เกตเวย์แห่งที่ 3

ดร.ชนธัญกล่าวว่า ตอนนี้เอกชนเข้าปรับปรุงพื้นที่ พร้อมทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) โดยจะดำเนินการควบคู่กันในช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้ นอกจากนี้ ทีพีไอ และไออาร์พีซี จะเชิญชวนเอกชนนอกพื้นที่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้าไปลงทุนด้วย

ทั้งนี้ แผนการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 2 ระยะ วงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชิงพาณิชย์ จะเป็นเกตเวย์ที่ 3 ของไทย โดยรวมโมเดลแหลมฉบัง และท่าเรือคลองเตยเข้าด้วยกัน

2.การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า

3.พลังงานไฟฟ้าทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม 800-1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 300-500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 300-500 เมกะวัตต์

4.นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การแพทย์ครบวงจร

2) เกษตร เช่น โรงงานอาหารแปรรูป, อาหารฮาลาล

3) อุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิด, ผลิตหัวรถจักร และแคร่ขนตู้, ผลิตแท่นเจาะน้ำมัน, ผลิตรถไฟฟ้า (EV car) ทั้งหมดจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา

มท.2 เผย TPI หาพื้นที่ลงทุน 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน โดย ศอ.บต.อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรา 10 ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่ง IRPC มีที่ดินเดิมอยู่ที่ ต.นาทับ อ.จะนะ ส่วน TPI กำลังจัดหาที่ดินอยู่ เล็งสร้างท่าเรือน้ำลึก

“ทั้ง IRPC และ TPI คงรอความชัดเจนเรื่องท่าเรือ เพราะสงขลาเป็นเมืองค้าชายแดน ซึ่งท่าเรือน้ำลึกที่มีอยู่ได้ใช้เกินศักยภาพแล้ว เพราะสินค้าที่ส่งไปยังปีนัง ประเทศมาเลเซีย มาจากสงขลาถึงร้อยละ 70 ซึ่ง TPI และ IRPC ก็มีศักยภาพในการลงทุนอยู่แล้ว โมเดลนี้เดินตามแนวเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ถ้าสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวนมาก” นายนิพนธ์กล่าว

กฎหมายเปิดช่องเขต ศก.พิเศษ

มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่ระบุว่า ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.โดยความเห็นชอบของ กพต.อาจกำหนดให้เขตพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจการ และกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นได้ อย่างน้อยจะต้องมีสาระครอบคลุมด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากร เทคโนโลยีระหว่างประเทศ

กนอ.ชี้เอกชนสนใจลงทุนน้อย


ขณะที่แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต้องการให้ กนอ.ใช้พื้นที่ภาคใต้ อ.จะนะ จ.สงขลา จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เดิมรัฐจะใช้แนวทางให้ ศอ.บต.เป็นคนซื้อที่แล้วให้ กนอ.เช่าพื้นที่ทำนิคม ขณะนี้ กนอ.ยังไม่ได้ซื้อที่หรือลงทุนใด ๆ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีนักลงทุนสนใจมากนัก ขณะเดียวกันใน จ.สงขลา ยังมีนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา อ.สะเดา รองรับนักลงทุนอยู่แล้ว