เท7พันล.แก้รถติดพระราม 2 ทางลัด ‘กัลปพฤกษ์-มหาชัย’

กรมทางหลวงชนบททุ่ม 2.1 หมื่นล้าน ตัด 3 ถนนใหม่ บูมที่ตาบอด กทม. นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ผุด 6 เลน “กัลปพฤกษ์-พุทธสาคร” 13.6 กม. แก้วิกฤตพระราม 2  ขยายสะพานนนทบุรี 1-กาญจนาฯ รองรับเมืองขยาย ของบฯปี’63 ลุยเวนคืน

นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2563 กรมจะขอจัดสรรงบฯก่อสร้างโครงการแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร 4 โครงการ วงเงิน 21,157 ล้านบาท ซึ่งทุกโครงการได้ออกแบบรายละเอียด เตรียมการไว้พร้อมจะเปิดประมูลเพื่อเริ่มก่อสร้างได้ทันที

ถนนเชื่อมกัลปพฤกษ์-พุทธสาคร ประกอบด้วย โครงการส่วนต่อขยายถนนกัลปพฤกษ์-ถนนพุทธสาคร ระยะทาง 13.6 กม. วงเงิน 7,364 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 6,014 ล้านบาท ค่าเวนคืน 1,350 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 316 แปลงวงเงิน 1,140 ล้านบาท อาคารสิ่งปลูกสร้าง ถูกเวนคืน 137 หลัง วงเงิน 210 ล้านบาท รูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ 6 ช่องจราจร เชื่อมกับถนนเดิม ทำให้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการ จากเดิมเป็น 3 แยก จะเป็น 4 แยก เปิดพื้นที่ตาบอดให้มีการพัฒนา

แนวเส้นทางจะเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อถนนกัลปพฤกษ์ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ทางทิศตะวันตก มีจุดตัด 5 แห่ง ที่ถนนบางบอน 3, 4 และ 5 และถนนสาธารณะอีก 2 แห่ง และบรรจบกับจุดที่ถนนพุทธสาคร ตัดกับถนนเศรษฐกิจ ซึ่งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ เชื่อมกับถนนสายหลักได้ทุกทิศทาง โดยไม่มีสัญญาณไฟจราจร จุดตัด 5 แห่งออกแบบเป็นสะพานข้ามทางแยก โดยด้านล่างจะเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจรพร้อมทางกลับรถ

ตัวช่วยรถติดพระราม 2

“โครงการนี้จะของบฯสำรวจเวนคืนปี 2563 ถ้าได้รับอนุมัติจะเริ่มก่อสร้างปี 2564 เสร็จปลายปี 2566  จะช่วยบรรเทาการจราจร และด้านโลจิสติกส์บนถนนพระราม 2 ที่ห่างราว 4 กม.ได้ดีเพราะเป็นเส้นที่คู่ขนานกันและเชื่อมการเดินทางและขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังสมุทรสาคร คาดจะมีปริมาณการจราจร 180,606 คันต่อวัน”

ทั้งยังมีแผนจะก่อสร้างโครงการต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานนทบุรี 1 ถึงกาญจนาภิเษก วงเงิน 3,663 ล้านบาทแยกเป็น ค่าก่อสร้าง 1,296 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน-อสังหาริมทรัพย์ 2,367 ล้านบาท มีพื้นที่ถูกเวนคืน 160 ไร่ หรือ 340 แปลง อาคาร 220 แห่งขยายสะพานนนท์ 1-กาญจนาฯ แนวเส้นทางจะต่อขยายถนนต่อเชื่อมโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนนนทบุรี 1 ที่เปิดใช้เมื่อปี 2558

จุดเริ่มต้นอยู่ทางแยกต่างระดับราชพฤกษ์เดิม บริเวณแยกวัดโบสถ์ดอนพรหม ตัดตรงไปจนเชื่อมกับถนนกาญจนาภิเษก กม.23+300 ห่างแยกต่างระดับบางใหญ่ 3.5 กม. และห่างต่างระดับบางคูเวียง 2 เมตร ระยะทางรวม 3.827 กม. ก่อสร้างเป็นถนนขนาด 6-8 ช่องจราจร มีสะพานหรือทางยกระดับขนาด 4-6 ช่องจราจร โดยของบฯปี 2563 สำรวจอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นเริ่มเวนคืนในปี 2564 ก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จปี 2567

เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นโครงข่ายใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่ จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯโซนตะวันตกได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตของเมือง และลดขนาดพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ของพื้นที่ในกรอบถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนนครอินทร์ ถนนบางใหญ่-บางคูลัด และถนนกาญจนาภิเษกรวมถึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม

ผุดถนน 6 เลนถึงศาลายา

อีกโครงการเป็นถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา ย่านมหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 9,200 ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้าง 4,600 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 4,600 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 1,370 แปลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และสิ่งปลูกสร้าง 87 หลัง ปัจจุบันรออนุมัติรายงานอีไอเอ ตามแผนจะสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 เริ่มเวนคืนในปี 2564 และก่อสร้างในปี 2565-2567

นายปฐมกล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางต่างระดับ 2 แห่ง ก่อสร้างตามแนวตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 90 ตร.กม. แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ ของ จ.นนทบุรี และ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ระยะทางรวม 12 กม.

เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยการจราจรบนถนนกาญจนาภิเษก และถนนบรมราชชนนี ได้มากแนวเส้นทาง เริ่มต้นบนทางหลวงชนบทสาย นฐ. 5035 ช่วงด้านเหนือของเดอะรอยัลเจมส์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ ห่างจากทางหลวงชนบท สาย นฐ.3004 (ศาลายา-บางภาษี) 1 กม. จากหมู่บ้านอาภากร และหมู่บ้านอาภากร 3 ไปทางทิศใต้ประมาณ 250 เมตร ทางทิศตะวันออกใกล้คลองนราภิรมย์ และทางแยกต่างระดับศาลายา

ตัดผ่านทางหลวงชนบท สาย นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าว ตัดทางหลวงชนบท สาย นบ.1001 ข้ามคลองจีนบ่าย คลองขุนเจน โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ แล้วเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านทางหลวงชนบท สาย นบ.5035 ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง ข้ามคลองโสนน้อย

ของบฯขยายชัยพฤกษ์ 10 เลน

จากนั้นตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.1001 บริเวณซอยอินทนิล ผ่านพื้นที่โล่งด้านหลังหมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์ ข้ามคลองบางนาและคลองประปา ก่อนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านมัณฑนา กับโครงการบ้านเอื้ออาทร บางกรวย (วัดพระเงิน) โดยแนวจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก บริเวณ กม.ที่ 11+997 เป็นจุดเชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง เพื่อให้แนวเส้นทางต่อเชื่อมกับถนนนครอินทร์ได้โดยตรง

นายปฐมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมยังของบประมาณ 930 ล้านบาท ขยายถนนชัยพฤกษ์ช่วงจากสะพานพระราม 4-กาญจนาภิเษก ระยะทางประมาณ 8 กม. เป็นถนน 10 ช่องจราจร เนื่องจากปัจจุบันการจราจรแออัดมาก จากการที่เมืองมีการขยายตัวมายังโซนนี้มากขึ้น สำหรับโครงการนี้ใช้เวลาสร้าง 2 ปีครึ่ง แล้วเสร็จในปี 2565