สิ้นปีจ่ายชดเชย 3 พันล้าน เวนคืนที่ดินเคลียร์ทาง ‘ไฮสปีด ซี.พี.’

เวนคืนอัพเดต

เป็นที่ชัดเจนแล้วฤกษ์ดีวันที่ 24 ต.ค. 2562 กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้ชนะประมูลรับสัมปทาน 50 ปีลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 117,227 ล้านบาท จะเซ็นสัญญาเดินหน้าโครงการ หลังเจรจากันมาเกือบปี

ภารกิจการเซ็นสัญญาเสร็จสิ้น ทั้ง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” และ “กลุ่ม ซี.พี.” ต่างคนต่างเคลียร์เรื่องส่งมอบพื้นที่และออกแบบให้สอดคล้องกันตามไทม์ไลน์ที่กำหนดใน 2 ปี ก่อนจะออกหนังสือให้เริ่มโครงการ (ดูแผนที่)

ด้วยสภาพพื้นที่สุดวิบาก เพื่อให้การเดินหน้าโครงการไม่ติดขัด คณะกรรมการนโยบายพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ต้องหยิบเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ต้องมาร่วมทำแผนอย่างจริงจัง

โดยตัดแบ่งพื้นที่ส่งมอบ 3 ส่วน จากทั้งโครงการ 220 กม. ประกอบด้วย 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. โครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม พร้อมส่งมอบทันที แต่ต้องจ่ายค่าเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาทก่อน 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ส่งมอบใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. ส่งมอบใน 4 ปี เร่งรัดได้ 2 ปี 3 เดือน

พร้อมกับปรับการเปิดให้บริการตามผลงานการก่อสร้าง จะเปิดบริการช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปลายปี 2566 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง อาจเสร็จเปิดใช้ในปี 2567-2568

ต้องมาลุ้นกันต่อ “ร.ฟ.ท.” เจ้าของพื้นที่จะปฏิวัติการทำงานได้รวดเร็วทันใจอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ได้หรือไม่ ในเมื่อที่ดินมีทั้งผู้บุกรุกที่อยู่กันมายาวนาน และที่เช่าที่มีทั้งสัญญาและไม่มีสัญญา

สำหรับการเวนคืนที่ดินล่าสุด “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.และในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการกล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอไปยัง ครม. เพื่ออนุมัติแล้ว คาดว่าในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้จะเริ่มเข้าพื้นที่สำรวจการเวนคืน รวมถึงผู้บุกรุกในแนวเส้นทางกว่า 500 ราย

รายละเอียดแนวเวนคืนที่ดินอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ แขวงคลองสามประเวศ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 2.สมุทรปราการ ต.หนองปรือ อ.บางพลี 3.ฉะเชิงเทรา ต.บางเตย ต.วังตะเคียน ต.ท่าไข่ ต.บางขวัญ ต.บ้านใหม่ ต.บางไผ่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา 4.ชลบุรี ต.บ้านสวน ต.หนองข้างคอก ต.ห้วยกะปิ อ.เมืองชลบุรี ต.บางพระ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา ต.นาเกลือ ต.หนองปรือ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ และ 5.ระยอง ต.สำนักท้อน ต.พลา อ.บ้านฉาง

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า ที่ดินจากการเวนคืนจะนำมาก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์ แก่กิจการรถไฟ มีที่ดินที่จะต้องเวนคืน 850 ไร่เศษ และสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 245 หลัง ค่าเวนคืนที่ดิน 3,570 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ จ.ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (depot) ประมาณ 300 ไร่ แนวทางวิ่ง 100 ไร่ และสถานีรถไฟแห่งใหม่อีก 70 ไร่

ที่เหลือจะเป็นค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนผู้อยู่อาศัยเดิม 254 ครัวเรือนที่ต้องย้ายออกจากแนวเขตทาง นอกจากนี้ มีเวนคืนที่สถานีลาดกระบังเพิ่ม เพื่อสร้างทางวิ่งไปสนามบินอู่ตะเภา และมีบางส่วนบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภาอีกประมาณ 300 ไร่ จะเร่งเวนคืนให้เสร็จใน 2 ปี