ม.เกษตรขวางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ต้นทุนพุ่ง-‘เจ้าสัวเจริญ’ขึ้นมิกซ์ยูส100ไร่

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” สะดุด ที่ดิน ม.เกษตรฯ ติดวางตอม่อช่วงแยกเกษตร-บางเขน แนะทำอุโมงค์แทน ต้นทุนบานหมื่นล้าน ชง “บิ๊กป้อม” เคาะ ธ.ค.นี้ ตั้งเป้าปี’64 ประมูล PPP 4.8 หมื่นล้าน แลกสัมปทาน 30 ปี ทุ่มเวนคืนที่ดิน 7.2 พันล้าน 20 สถานี เจ้าสัวเจริญรอจังหวะขึ้นมิกซ์ยูส 100 ไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงินลงทุน 48,386 ล้านบาท ที่หลายคนรอ หลังรัฐบาลอนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-Map) มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรย่านเกษตร-นวมินทร์ และเพิ่มฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสายหลักเชื่อมการเดินทางโซนตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ โดย รฟม.จะเปิดประมูล PPP 30 ปี ในปี 2564 มีเวนคืนที่ดิน 7,254 ล้านบาท สร้าง 20 สถานี

สะดุด ม.เกษตรฯไม่ให้ใช้พื้นที่

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนข.ได้ศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเสร็จแล้ว รออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) กำลังพิจารณารายละเอียด ล่าสุดโครงการกำลังมีปัญหา เนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำหนังสือตอบกลับมายัง สนข. ลงวันที่ 1 พ.ย. 2562 แจ้งว่า ขอให้ สนข.ทบทวนรูปแบบอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาซึ่งมีนิสิตจำนวนมาก ตลอดจนประชาชนฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย เนื่องจากจะมีการสร้างทางวิ่งเข้าไปในรั้ว ม.เกษตรศาสตร์ ช่วงแยกเกษตร-แยกบางเขน และมีสถานี ม.เกษตร อยู่ที่ประตู 2 โดยเกรงว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยและภูมิทัศน์โดยรอบ

ขออุโมงค์แทนทางยกระดับ

“ม.เกษตรฯขอให้ปรับจากยกระดับเป็นอุโมงค์ ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7,000-10,000 ล้านบาท ต้องขุดอุโมงค์แนวถนนงามวงศ์วาน ตั้งแต่หน้ามหา’ลัยถึงหน้าเรือนจำลาดยาว ผ่านคลองลาดพร้าว-บางบัว อุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ของการประปาฯ เสาเข็มสายสีเขียว สายสีแดง ต้องเวนคืนขุดอุโมงค์ลึกมากกว่า 30 เมตร ความยาว 500-600 เมตร” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

พิจารณาแล้วต้องทำโครงสร้างยกระดับตามเดิม ด้วยข้อจำกัดพื้นที่ที่มีอุโมงค์ทางลอด สะพานข้ามแยก จำเป็นต้องสร้างตอม่อไว้ฝั่ง ม.เกษตรฯ แต่ถ้าไม่ให้พื้นที่ก็ต้องใช้วิธีเวนคืนฝั่งตรงข้ามแทน เพราะถ้าสร้างตอม่อบริเวณกลางถนนต้องสร้างลึกลงไปมาก อาจมีปัญหาตามมา ซึ่งช่วงถนนพหลโยธินหากไม่เบี่ยงแนวเข้า ม.เกษตรฯ อาจต้องรื้อสะพานข้ามแยก เพราะเป็นจุดที่มีโครงสร้างอื่น ๆ หนาแน่น ส่วนช่วงถนนวิภาวดีฯต้องยกสูง 30 เมตร ข้ามโทลล์เวย์ ค่าก่อสร้างแพงขึ้นไปอีก

“ม.เกษตรฯได้ประโยชน์จากโครงการ เพราะมีสถานีรถไฟฟ้าทุกด้าน ทางฝั่งวิภาวดีฯมีสถานีสายสีแดง สีน้ำตาล ฝั่งพหลโยธินมีสถานีสายสีเขียว สีน้ำตาล การเดินทางจะสะดวก”

 

ขอเบี่ยงแนวหลบทางลอด

แหล่งข่าวกล่าวว่า รูปแบบก่อสร้างเดิมจะเบี่ยงแนวออกจากแนวอุโมงค์ทางลอดแยกเกษตร ออกแบบให้สายสีน้ำตาลยกข้ามสายสีเขียวที่ความสูง 26-29 เมตร วางโครงสร้างฐานรากและเสาในพื้นที่ ม.เกษตรฯ ตั้งแต่ทางแยกจนถึงหน้าอาคาร ธ.ก.ส. จากนั้นเบี่ยงแนวออกไปวิ่งตามแนวเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์

ส่วนแยกบางเขนจะเบี่ยงแนวไปด้านข้างสะพานข้ามแยกฝั่งมุ่งหน้าไปแยกเกษตร โดยเวนคืนอาคารพาณิชย์ริมถนนใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสถานีบางเขนของสายสีน้ำตาล และเชื่อมสถานีบางเขนสายสีแดง โดยแนวเส้นทางออกแบบให้มีความสูง 8 เมตร ลอดโครงสร้างสายสีแดง และลอดโทลล์เวย์ไปใช้พื้นที่ ม.เกษตรฯ วางโครงสร้างฐานรากและเสา แล้วจึงเบี่ยงเข้ากึ่งกลางถนนเมื่อพ้นโครงสร้างเชิงลาดสะพานข้ามแยก

“แนวเส้นทางใช้พื้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ 200 เมตร เป็นบริเวณหัว-ท้าย ส่วนหัวอยู่ในรั้วฝั่งพหลโยธิน ส่วนท้ายอยู่ริมรั้วฝั่งวิภาวดีรังสิต จะปักเสาตอม่อเข้าไปในพื้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเสาตอม่อมีรูปแบบเดียวกับสายสีชมพู และสายสีเหลือง เพราะเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล”

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับทราบข้อมูล ม.เกษตรฯแล้ว และได้ศึกษาปรับรูปแบบโครงการ 3-4 แบบ มีข้อกังวลถ้าไม่ใช้พื้นที่ภายใน ม.เกษตรฯ จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่ม 20% เตรียมรายงานปัญหาให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบในเดือน ธ.ค.นี้

เจ้าสัวเจริญปัดฝุ่นที่ดินรอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีที่ดินรอพัฒนา เช่น ที่ดินติดถนนเกษตร-นวมินทร์กว่า 100 ไร่ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เยื้องกับ “นวมินทร์ ซิตี้ อเวนิว” ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจาก บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างปรับโมเดลการพัฒนาจากศูนย์ประชุมและโรงแรม ล่าสุดปรับเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่และมีรีเทลด้วย

“การลงทุนคงยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ รอจังหวะ เพราะอนาคตมีรถไฟฟ้าและทางด่วนผ่าน”

ส่วนรายอื่น อาทิ บจ.เค.อี.แลนด์ ของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร คริสตัล พาร์ค และคอมมิวนิตี้มอลล์ เดอะ คริสตัล และซีดีซี มีที่ดินรอพัฒนาอยู่ติด ถ.เกษตร-นวมินทร์ 15 ไร่ และบริเวณจุดตัดทางด่วน 100 ไร่, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เข้าไปลงทุนโครงการ เดอะ ซีเล็คเต็ด เกษตร-งามวงศ์วาน คอนโดฯไฮไรส์ 20 ชั้น บนที่ดิน 2 ไร่, บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) พัฒนาโครงการแอสปาย งามวงศ์วาน สูง 28 ชั้น บนที่ดิน 9 ไร่เศษ

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บจ.ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ เปิดเผยว่า แม้สายสีน้ำตาลยังไม่สร้าง แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบเข้าไปพัฒนาคอนโดมิเนียมรอแล้ว มียอดสะสมในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง 10,012 ยูนิต ขายไปได้แล้ว 82% ด้านราคาที่ดินแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ อยู่ที่ 2-5 แสนบาท/ตร.ว. คาดว่าจะปรับเพิ่มอีกเมื่อรถไฟฟ้าเริ่มสร้าง

คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม…เปิดโมเดลรูปแบบ”ทางด่วน-รถไฟฟ้า”แก้รถติดเกษตร-นวมินทร์เชื่อมโยงการเดินทางตะวันออก-ตะวันตก