“เจ้าสัว” เปิดศึกเจ้าบุญทุ่ม ชิงอู่ตะเภา 3 แสนล้าน

อู่ตะเภา

พลิกกลับมาปะทุอีกครั้ง กับงานประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์ EEC 6,500 ไร่ “เมืองการบินอู่ตะเภา” มหานครแห่งภาคตะวันออก เค้กชิ้นใหญ่มูลค่ามหาศาล 2.9 แสนล้านบาท

หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ โดยกองทัพเรือ ให้รับซองประมูลของ ซี.พี.ที่ยื่นช้าไป 9 นาที กลับมาพิจารณาใหม่

เท่ากับคืนสิทธิ์ให้พี่ใหญ่ ซี.พี.และพันธมิตร ที่หนีบกันมาด้วย นั่นคือ บจ.ธนโฮลดิ้ง บจ.Orient Success International Limited บมจ.อิตาเลียนไทยฯ บมจ.ช.การช่าง และบี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง หลังดิ้นเพื่อสู้ต่อมาหลายยก

ล่าสุด 14 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกได้เปิดซองเทคนิค-แผนธุรกิจของกลุ่ม ซี.พี.มาพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างผ่านฉลุยตามคาดในยกแรก

รอลุ้นอีกเฮือกใหญ่ในยกที่สอง หรือรอบน็อกเอาต์ในวันที่ 17 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนการเปิดซองราคา ถือเป็นจุดชี้วัด ใครอยู่ ใครไป

เพราะเงื่อนไขกองทัพเรือจะชี้ขาดที่ “ผลตอบแทนให้รัฐ 50 ปี” ใครจ่ายสูงกว่าคนนั้นชนะ เหมือนเล่นเก้าเก โดยอั้นขั้นต่ำที่ 59,224 ล้านบาท

ต่างจาก “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน”ที่ใครเสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยสุดถือเป็นผู้ชนะ ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ลิ้มรสชัยชนะมาแล้ว โดยยอมให้รัฐอุดหนุนแค่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าเพดานที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 2,198 ล้านบาท

ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่ค่ายเจ้าสัว จะสวมบทป๋าใจป้ำอีกครั้งหรือไม่ ?

ขณะที่วงในลือแซดว่า ราคาที่เขียนไว้ในซองคือ 1.8 แสนล้านบาท

ถ้าเป็นจริง แพ้หลุุดลุ่ยแน่นอน

ถ้าเกมพลิก นั่นหมายความว่า บริษัทเจ้าสัวเอาจริง ยอมโปะหนัก คือเสนอสูงกว่าคู่แข่งที่เปิดหน้าเปิดซองมาแล้วก่อนหน้านี้

นั่นคือ “ค่ายบีทีเอส-หมอเสริฐ” หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS มีพันธมิตรคือ บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ที่เปิดตัวเลขไปเมื่อ 11 ต.ค. 2562 โดยจ่ายผลตอบแทนให้รัฐเกิน 3 แสนล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี รวมแล้วขนลุก คืออยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท

ถ้าหวยออกแบบนี้ เท่ากับเกิด “จุดพลิกผัน ดับฝันชั้นเซียน”

ค่ายบีทีเอส-หมอเสริฐ ที่คาดหวังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ใน EEC คงต้องม้วนเสื่อกลับ จากเดิมเตรียมปูพรมแดงไว้เดินไปเซ็นสัญญาแล้ว

แต่แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้วิเคราะห์ไว้ว่า “เกมประมูลรอบนี้ไม่ธรรมดา เพราะพี่ใหญ่งัดข้อกันเอง อย่าคิดมาก เพราะทุกค่ายรวยอยู่แล้ว พร้อมจ่าย ประโยชน์ตกกับประเทศชาติ ห่วงแค่ว่า ถ้าเอกชนฮั้วกันเอง รัฐสิจะเสียเปรียบ”

ขณะที่กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตี้ยม ที่มี บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค บมจ.คริสเตียนีฯ, ไทยแอร์เอเชีย และ GMR Airport Limited จากอินเดีย เสนอสู้ที่ 1.1 แสนล้านบาท คงต้องรอส้มหล่นจาก 2 กลุ่มใหญ่ตกม้าตาย ถึงจะได้เข้าวิน

เมื่อพิจารณาดูเรื่องสายสัมพันธ์ “กลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐ” ดูน่ารักน่าเอ็นดู เพราะมี “ซิโน-ไทยฯ” บริษัทรับเหมาของรองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นพันธมิตร

“ไม่มีใครรู้ราคาที่แน่ชัดของกลุ่ม ซี.พี. แต่ประเด็นที่น่าคิดคือ การประมูลหาผู้ชนะเมืองการบินอู่ตะเภา เกมอาจพลิกได้ ถ้าไม่ให้น้ำหนักเรื่องการยื่นวงเงินสูงสุดให้รัฐ แต่ไปพิจารณาเรื่องอื่นเป็นประเด็นหลัก” แหล่งข่าวย้ำ

มี 2 ทางที่ ซี.พี.จะพลิกชนะ คือ 1. ความเป็นไปได้ของราคากว่า 3 แสนล้านบาทที่กลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐเสนอ หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเป็นไปได้ยากก็มีสิทธิ์ที่จะเชิญรายที่ 2 มาพิจารณา กรณีที่เสนอราคาสูงและสุดท้ายทำไม่ได้ มีต่อรองกันภายหลังก็มี ในการประมูลโครงการใหญ่ ๆ ทั้งรถไฟฟ้าและสื่อสาร

หรือ 2.กลุ่ม ซี.พี.เสนอวงเงินบลัฟกลุ่มบีทีเอส-หมอเสริฐ สูงกว่า 3 แสนล้าน แต่แผนธุรกิจต่าง ๆ คณะกรรมการดูแล้วมีความเป็นไปได้ เพราะ ซี.พี.มีผู้โดยสารจากรถไฟความเร็วสูงอยู่ในมือ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับผู้มาใช้สนามบิน อาจจะมีแผนธุรกิจที่เกื้อหนุนกันและกันได้ ขณะนี้จึงยังไม่มีอะไรที่แน่นอน

“การที่ “กลุ่มซี.พี.” ดิ้นรนสู้ยิบตา ให้กลับมายืนหนึ่งในโครงการอู่ตะเภาเพื่อต้องการจิ๊กซอว์ต่อยอดให้กับไฮสปีด นำรายได้จากโครงการนี้ไปชดเชยกับการลงทุนอีก 2.24 แสนล้าน ในไฮสปีด” รายงานข่าวกล่าว

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกลับเข้ามาประมูลในโครงการอู่ตะเภาอีกครั้ง ก็คาดหวังว่าจะได้เป็นผู้ชนะ เพราะโครงการนี้จะต่อยอดกับรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง จะทำให้ 2 โครงการที่ดำเนินการโดยกลุ่มเดียวเดินหน้าต่อโดยไม่มีปัญหาระหว่างทางภายหลัง ทั้งการก่อสร้างหรือการฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากโครงการใดโครงการหนึ่งสร้างช้า

“เมืองการบินอู่ตะเภาเป็นโครงการใหญ่ ทาง ซี.พี.เป็นโต้โผใหญ่ ถือหุ้น 70% ที่เหลือเป็นพันธมิตร อาทิ อิตาเลียนไทยฯ 5% บี.กริมฯ 10% และ ช.การช่าง ยังมีพันธมิตรต่างชาติอีกหลายประเทศมาช่วย ทั้งจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส บจ. Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide จากเยอรมนี เป็นโอเปอเรเตอร์สนามบิน และมีบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) มาช่วยออกแบบ วางคอนเซ็ปต์ให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติและแอร์พอร์ตซิตี้ด้านธุรกิจไมซ์ (MICE) แข่งกับสนามบินชางฮี ของสิงคโปร์”

แหล่งข่าวกล่าวว่า บนพื้นที่ 6,500 ไร่ แบ่งพัฒนาธุรกิจด้านการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน คาร์โก้ อาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบิน มี ช.การช่างและอิตาเลียนไทยฯเป็นผู้ก่อสร้าง และให้ “แมกโนเลีย” พัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่โดยรอบ เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า และอาจจะร่วมกับคิงเพาเวอร์พัฒนาดิวตี้ฟรี มีบี.กริมฯซัพพอร์ตระบบพลังงานและซีเมนส์ซัพพลายในส่วนรถไฟฟ้า APM วิ่งรับส่งผู้โดยสารและคนทำงานภายในสนามบิน

ตามแผนจะแบ่งพัฒนาเป็น 3-4 เฟส ในเฟสแรก มีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับ 60 ล้านคนต่อปี และมีสถานีรถไฟความเร็วสูงอยู่ด้านล่าง อาคารเทียบเครื่องบิน อาจจะมีศูนย์การค้า เป็นต้น ซึ่ง ซี.พี.จะเป็นผู้วางแผนธุรกิจ การพัฒนา รวมทั้งแผนการเงินทั้งหมด

ส่วนกลุ่มบีทีเอส-หมอเสิรฐ ที่เสนอรายได้ให้รัฐสูง เพราะมองว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็นธุรกิจกำไรมหาศาล ต่างจากรถไฟความเร็วสูง ถ้าได้ก็คุ้มค่ากับบางกอกแอร์เวย์ส ที่มีธุรกิจการบินครบวงจรรองรับอยู่ รวมถึงดิวตี้ฟรี ส่วนบีทีเอสเป็นดีเวลอปเปอร์อสังหาฯและโรงแรม ด้านซิโน-ไทยฯก็เชี่ยวชาญสร้างโครงการขนาดใหญ่

สนามบินอู่ตะเภาจึงเป็นถนนสายใหม่ที่เจ้าสัวใหญ่เมืองไทยขอทุ่มหมดหน้าตัก

หมากเกมนี้ วัด “ผลประโยชน์” ให้รัฐคงไม่พอ ต้องวัดใจ “ฝ่ายการเมือง” ด้วยเช่นกัน