“ศักดิ์สยาม” ชงครม.ก.พ.เคาะแผนฟื้นฟูขสมก.เวอร์ชั่นใหม่เก็บค่าตั๋ว 30 บาทนั่งได้ทุกสายทั้งวัน

“ศักดิ์สยาม” ยันแผนฟื้นฟูขสมก.เข้าครม.ไม่เกิน 1 เดือน ไม่บีบเอกชนใช้เรตค่ารถ 30 บาท เลือกใช้ราคาเดิม 15-20-25 ได้ “ผอ.ขสมก.”ยันคำเดิมปรับแค่”จัดหารถ-เส้นทางรถ” ไม่โละคนขับ “ขนส่ง”เปิดไส้ใน 104 เส้นทางรถเมล์ใหม่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) แผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการเชิญชวนหลายภาคส่วนในสังคม เช่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน มาร่วมระดมความคิดเห็น

ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่ ขสมก.ต้องรับไป หลายเรื่องก็มีการวางแผนไว้แล้ว เช่น ข้อเสนอของผู้พิการที่ต้องการรถเมล์ชานต่ำ ก็มีการนำไปบรรจุในการจัดหารถเมล์ไว้แล้ว หลังจากนี้ จึงอยากให้คณะทำงานทำ Action Plan ให้เห็นภาพชัดเจนว่า แผนงานแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาอย่างไรบ้าง เพราะประชาชนต้องการทราบ และมีหลายสิ่งที่ประชาชนยังมีข้อสงสัย จึงควรที่จะมีการประชาสัมพันธ์ออกไปด้วย

ก.พ.เสนอครม.อนุมัติ

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาปรับแก้แผนฟื้นฟูเดิมที่เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 โดย ขสมก.จะต้องนำแผนฟื้นฟูดังกล่าวไปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด ขสมก.) พิจารณาก่อน จากนั้นจึงเสนอกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมครม.ตามลำดับ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือประมาณเดือน ก.พ.นี้

ส่วนค่าโดยสารรายวัน 30 บาท/วัน แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยวนั้น เบื้องต้น ไม่ได้บังคับให้กลุ่มรถร่วมเอกชนเข้ามาอยู่ภายใต้เกณฑ์นี้ ให้เป็นความสมัครใจของภาคเอกชนเหล่านั้นแทน ถ้าไม่ร่วมก็ให้ใช้ราคาเดิมตามที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางที่มติออกไปคือ 15-20-25 บาท และเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชนด้วย

ย้ำยึดแผนเดิม

ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า แผนฟื้นฟูที่จะปรับปรุงใหม่ยังปรับแก้เพียง 2 ประเด็น คือ 1. การจัดหารถเมล์จำนวน 3,000 คัน ซึ่งได้รับมอบรถ NGV แล้ว 489 คัน เหลือ 2,511 คัน จะเปลี่ยนจากการซื้อบางส่วน เป็นการเช่ารถแบบปรับอากาศทั้งหมดโดยจะจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตร (กม.) บริการที่วิ่งจริง

และ 2. การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ จากเดิมมีโครงข่ายตามแผนปฏิรูป 269 เส้นทาง จะตัดให้เหลือ 104 เส้นทาง เพื่อลดปัญหาการทับซ้อนของสายทางรถเมล์ต่างๆ โดยจากการศึกษพบว่ามีถนนหลายสายที่มีรถเมล์วิ่งทับกันเป็นำนวนมาก จุดที่มีปัญหาหนักๆ เช่น ถ.พหลโยธิน หมอชิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีสายรถเมล์วิ่งทับกันถึง 30 สาย คิดเป็นจำนวนรถเมล์ประมาณ 600 คัน หรือถ.รามคำแหง ช่วงหน้าม.รามคำแหง – แยกคลองตัน ระยะทางไม่ถึง 10 กม. มีสายรถเมล์วิ่งทับกันถึง 27 สาย คิดเป็นจำนวนรถเมล์ประมาณ 540 คัน เป็นตน

คนขับยังขาด

ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กร ปัจจุบัน ขสมก.มีพนักงานรวม 13,632 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 5,580 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,782 คน และพนักงานอื่นๆอีก 2,271 คน คิดเป็นพนักงาน 4.54 คน/รถเมล์ 1 คัน เนื่องจากต่อไปในแผนฟื้นฟู ขสมก.จะใช้ระบบ E-Ticket ในการรับชำระค่าโดยสาร ทำให้สัดส่วนในพนักงานเก็บค่าโดยสารในอนาคตจะไม่มีอีก

ส่วนหนึ่งจะนำพนักงานไปฝึกอบรมเพื่อเป็นพนักงานขับรถแทน เพราะ ขสมก.ยังขาดแคลนอีกมาก เพราะตามเป้าหมายต้องมีพนักงานขับรถ 6,300 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนพนักงานเปลี่ยนไปเป็น 8,259 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 คน และพนักงานอื่นๆเหลือ 1,959 คน คิดเป็นพนักงาน 2.75 คน/รถเมล์ 1 คัน

ขณะที่แผนเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ยังยึดตามแผนเดิมคือจะใช้งบประมาณในส่วนนี้ที่ 6,004 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนพนักงานเป้าหมาย 5,051 คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1.189 ล้านบาท/คน เป็นพนักงานสนับสนุน 655 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,036 ล้านบาท และพนักงานเก็บค่าโดยสาร 4,396 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 4,968 ล้านบาท โดยไม่มีพนักงานขับรถ เนื่องจาก ขสมก.ยังขาดแคลน

สำหรับจำนวนเงินที่ใช้ในแผนฟื้นฟูทั้งหมดจะอยู่ที่ 16,004 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ขออุดหนุนจากรัฐบาล (PSO) 10,000 ล้านบาท (ระยะ 5 ปี ปีละ 2,000 ล้านบาท) และเงินที่ใช้ในโครงการ Early Retirement 6,004 ล้านบาท พร้อมกับขอให้รัฐรับภาระหนี้สินที่มีจำนวน 110,199.199 ล้านบาท
@เปิด 4 รูปแบบ 104 สายรถเมล์ใหม่

ขณะที่นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า แผนการปรับปรุงเส้นทาง ปรับแก้จากเดิมของขสมก.มี 208 เส้นทาง เป็นขสมกเดินรถรายเดียว 88 เส้นทาง เดินรถร่วมกับเอกชน 29 เส้นทาง และเอกชนเดินรถ 90 เส้นทาง ซึ่งมีปัญหารถวิ่งทับซ้อน กระจุกตัวอยู่ในตััวเมือง ไม่ครอบคลุมทั่วถึง

จึงได้มีการปรับเส้นทางใหม่เหลือ 104 เส้นทาง เมื่อรวมกับเส้นทางของเอกชน 54 เส้นทาง จะรวมเป็น 158 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางหลัก (Liner) 37 เส้นทาง มีระยะทางเฉลี่ย 29 กม. สายที่ยาวที่สุดคือ ช่วงม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – สวนจตุจักร และสายสั้นที่สุดคือ ท่าน้ำปากเกร็ด – ตลาดเทเวศร์, เส้นทางสายรอง (Feeder) 21 เส้นทาง มีระยะทางเฉลี่ย 12 กม. สายที่วิ่งยาวที่สุดคือ ช่วงหลักสอง – กระทุ่มแบน และสายที่วิ่งสั้นที่สุดคือ ช่วง สถานี MRT สิรินธร – อนุสาวรย์ชัยสมรภูมิ

เส้นทางวิ่งเป็นวงกลม (Circle) 24 เส้นทาง มีระยะทางเฉลี่ย 20 กม. สายที่ยาวที่สุดคือ ช่วงวงกลมประชานิเวศน์ – วงศ์สว่าง และสายที่สั้นที่สุดคือ ช่วงวงแหวนสถานี MRT สนามไชย – เสาชิงช้า – สะพานพุทธฯ และเส้นทางขึ้นทางด่วน (Express) 22 เส้นทาง มีระยะทางเฉลี่ย 27 กม. สายที่ยาวที่สุด ช่วงม.ราชมงคลรัตนโกสินทร์ศาลายา – โรงพยาบาลวชิระ และสายที่สั้นที่สุดคือ ช่วงบางปะแก้ว – ท่าเรือคลองเตย

ทั้งนี้ กรมยังมีอีก 45 เส้นทางตามแผนปฏิรูปเดิมที่ยังอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มรถร่วมเอกชนว่าจะออกแบบเส้นทางเป็นไปในแนวทางใด เส้นทางทั้งหมดจะเป็นเส้นทางเพิ่มเติมและไม่จำเป็นที่จะต้องมีให้ครบ 45 เส้นทาง อาจจะมี 20 30 เส้นทางเพื่อเติมเต็มเส้นทางตามแผนฟื้นฟูดังกล่าว แต่ยังตกลงแน่นอนว่าจะเป็นเส้นทางของใครหรือจะให้เป็นเส้นทางร่วมขสมก.-เอกชน