ทอท.เร่งประมูล รันเวย์หมื่นล้าน 6 รับเหมายิ้มร่า

ทอท.ประมูล 1.3 หมื่นล้าน สร้างรันเวย์ 3 อาคารเทียบเครื่องบินสุวรรณภูมิ ปิดทางต่างชาติ หวั่นดัมพ์ราคาเร่ขายงาน 6 รับเหมาไทยปาดเค้กแน่ รู้ผล 9 มี.ค. ผงะเฟส 2 ช้ายกแผง ออกแบบผิด พิษโควิด-19 นำเข้าวัสดุไม่ได้ เลื่อนเปิดปีหน้า

แหล่งข่าวจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากำลังเปิดขาย TOR ประมูล e-Bidding โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ 2 สัญญา วงเงิน 13,206 ล้านบาท แยกเป็นทางวิ่งทางขับ 10,412.56 ล้านบาท และปรับปรุงคุณภาพดินอาคารเทียบเครื่องรองหลังที่ 2 วงเงิน 2,793.94 ล้านบาท เคาะราคา 6 มี.ค. พิจารณาผล 9 มี.ค. คาดเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท.อนุมัติทันที

“ได้ผู้รับเหมาแล้วก็รอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฯ หรือ EHIA เพราะโครงการนี้ต้องจ่ายค่าผลกระทบด้านเสียงอีก 5,000 กว่าล้านบาท หากเคลียร์จบ จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี”

ปิดทางต่างชาติ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้รับเหมาซื้อ TOR แล้ว แต่เป็น e-Bidding จะไม่ทราบว่ามีใครบ้าง แต่คงมี 6 บริษัทแน่ ๆ เนื่องจาก ทอท.ปรับรายละเอียดให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ใช้ผลงานทั้งก่อสร้างและซ่อมรันเวย์ แต่ไม่ให้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วม เพราะกลัวดัมพ์ราคา และนำสัญญาไปขายต่อ จากผลสำรวจมี 6 รับเหมา คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น บจ.ถนอมวงศ์บริการ ที่ขึ้นทะเบียนกับ ทอท.อยู่แล้วสนใจและร่วมทุนกับ 6 บริษัทนี้ก็ได้

3 บิ๊กซื้อซองแล้ว

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมากล่าวว่า รายใหญ่ที่ซื้อซองแล้ว มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ, ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ, เนาวรัตน์พัฒนาการ ที่น่าจับตาคือ อิตาเลียนไทยฯเพราะสร้างรันเวย์ 1-2 มาแล้ว ที่สุวรรณภูมิ

แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า รันเวย์ 3 ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 21,795 ล้านบาท ผ่านคณะรัฐมนตรี 17 เม.ย. 2562 โดยพื้นที่สร้างอยู่ทิศตะวันตกห่างรันเวย์หนึ่ง 400 เมตร ถ้าแล้วเสร็จจะรองรับการจราจรทางอากาศได้มากขึ้น จาก 64 เป็น94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

เฟส 2 สร้างช้า

ส่วนความคืบหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังก่อสร้างด้วยวงเงิน 51,862 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.นี้ ทอท.จะทยอยทดสอบอาคารเทียบเครื่องบินและลานจอดประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 วงเงิน 26,285 ล้านบาท หนึ่งในแผนงาน แต่งานก่อสร้างงานอาคารที่กลุ่มเพาเวอร์ไลน์ฯ-ไชน่าสเตทฯก่อสร้างนั้น คงไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เม.ย.นี้ เนื่องจากผู้รับเหมาขอขยายเวลา

“งานโครงสร้างและระบบหลัก อุโมงค์รถไฟฟ้า APM อิตาเลียนไทยฯส่งมอบงานแล้ว 1 ส.ค. 2562 หลังสร้างช้าไปมาก ส่วนงานอาคารที่เพาเวอร์ไลน์ฯ-ไชน่าสเตทสร้าง คืบหน้า 79.86%

แต่ได้รับผลกระทบที่อิตาเลียนไทยฯสร้างช้า จึงขยายเวลาจาก พ.ย. 2562 เป็น 18 เม.ย. 2563 ล่าสุดบอร์ด ทอท.อนุมัติให้ขยายเวลาอีก 4 เดือน สิ้นสุด ส.ค.นี้ หลังพบว่าบริษัทที่ปรึกษาออกแบบผิดพลาด ทอท.ต้องเรียกค่าชดเชย”

ITD อุทธรณ์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการปรับอิตาเลียนไทยฯวันละ 11 ล้านบาท กรณีสร้างช้าจากสัญญา 8 เดือน คิดเป็นเงิน 4,100 ล้านบาท ล่าสุดเสนอลดค่าปรับ 800 ล้านบาท ในส่วนของ key date 3 หรือวันที่กำหนดในสัญญา ให้คณะอนุกรรมการพัสดุพิจารณา แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติและให้กลับมาทบทวนใหม่ หลังอิตาเลียนไทยฯยื่นอุทธรณ์ขอไม่ให้ปรับบริษัท แต่ทุกอย่างต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ นอกจากดูความพร้อมงานอาคารแล้ว ยังมีเรื่องระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ระบบตรวจจับระเบิด (EDS) ขาออก ต้องแล้วเสร็จด้วย

โดยระบบรถ APM 2,999 ล้านบาทของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี เริ่มงาน 20 พ.ย. 2560 ผลิตเสร็จแล้วบางส่วน จะทยอยส่งมอบปลายปีนี้ล่าช้าจากสัญญา 7 เม.ย. 2563 ปัจจุบันคืบหน้า 46.53%

ส่วนระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า 3,646 ล้านบาท ของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานล็อกซเล่ย์-แอลพีเอส เริ่มงาน 9 ก.พ. 2561 คืบหน้าแล้ว 39.65% ช้าจากแผนจะเสร็จวันที่ 28 เม.ย. 2563 ประมาณ 4 เดือน ส่วนงานสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านตะวันออกคืบหน้า 14.85% ตามสัญญาเสร็จ 14 ธ.ค. 2563 งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค มีกิจการร่วมค้าเอสจีแอนด์อินเตอร์ลิงค์ เป็นผู้สร้าง วงเงิน 1,980 ล้านบาท คืบหน้า 89.93%

“ภาพรวมงานก่อสร้างเฟส 2 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้เดือน เม.ย. 2564 จากเดิมจะเปิด ต.ค. 2563” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เมื่ออาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และลานจอดอากาศยานแล้วเสร็จ จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 เป็น 60 ล้านคนต่อปี มี 28 หลุมจอด พื้นที่ลานจอด 250,000 ตร.ม. รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ A380 ได้ 8 ลำ และอื่น ๆ อีก 20 ลำ ในเวลาเดียวกัน เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ชั้น B2 เป็นสถานีรถไฟ APM ชั้น B1 งานระบบต่าง ๆ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า งานระบบ ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 ร้านค้า พื้นที่รวม 216,000 ตร.ม. ในนี้มีพื้นที่รีเทล-ดิวตี้ฟรี 12,000 ตร.ม.มีงานประติมากรรมช้างหิมพานต์ 7 เมตร และ 5 เมตร โถงกลาง ชั้น 3 อาคารมีประตูออกเชื่อมลานจอดอากาศยาน มีพื้นที่ 960,000 ตร.ม. มีส่วนเชื่อมอุโมงค์ทิศใต้ สำหรับขนส่งผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ และเป็นช่องทางวางระบบสาธารณูปโภค และถนนภายในเขตการบินเชื่อมอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ด้วยระบบรถไฟ APM ขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ทอท. กล่าวว่า ขณะนี้งานก่อสร้างสุวรรณภูมิ เฟส 2 ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักรจากต่างประเทศได้ กำลังรวบรวมว่าจะมีรายการอะไรบ้าง และจะส่งผลกระทบต่อโครงการแค่ไหน ส่วนการเปิดบริการจะขยับจากปีนี้ เป็น เม.ย. 2564