เปิดแผน “ซี.พี.” อัพเกรดแอร์พอร์ตลิงก์ ส่ง “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” ชิงเค้กบัตรรถไฟฟ้า

เดดไลน์ไม่เกินเดือน ต.ค. 2564 ทางกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ต้องจ่าย 10,671 ล้านบาท ให้ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เพื่อใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ ระยะเวลา 50 ปี

ล่าสุด ซี.พี.กำลังตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูล ทรัพย์สิน ปริมาณผู้โดยสาร มีอะไรที่ยังนำมาใช้งานได้และต้องโละทิ้ง เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการ “อัพเกรด” รถไฟฟ้าสายนี้ให้ทันสมัย และรับกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. คาดว่าอีก 2-3 เดือนจะได้ข้อสรุป

“ทางคุณศุภชัย (เจียรวนนท์) อยากจะให้เคลียร์และเข้าพื้นที่ให้ได้ภายใน 1 ปีครึ่ง เราก็กำลังเร่งรัดกันอยู่ ในปีนี้อาจจะยังไม่ได้ทำอะไร” แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวและว่า

ขณะนี้ยังตอบไม่ได้จะเป็นการอัพเกรดแบบเล็กหรือใหญ่ แต่ที่ต้องดำเนินการคือซื้อรถใหม่เพิ่ม ถ้าเป็นแบบให้ใช้งานไปได้ก่อนในระยะสั้น ๆ ใช้รถยี่ห้อเดิมคือ ซีเมนส์ แต่ถ้าใช้ต่างยี่ห้อก็ต้องปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณใหม่ทั้งหมด ขณะนี้นโยบายยังไม่นิ่ง

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงระบบเครื่องกลและรถไฟฟ้าการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เดิม ต้องให้รองรับกับระบบรถไฟความเร็วสูงด้วย เพราะต้องใช้โครงสร้างร่วมกัน เช่น มียกระดับแพลตฟอร์มทางเดินชานชาลาสูงเท่ากับชานชาลาของรถไฟความเร็วสูง

และมีบางสถานีจะต้องตัดพื้นที่สถานีออกประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งการปรับปรุงจะต้องดำเนินการนอกเวลาให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ในช่วงเวลา 24.00-05.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบการเดินรถ ยังรวมถึงการซ่อมบำรุงแอร์พอร์ตลิงก์เดิม อาจจะต้องมีการขยายชานชาลาสถานีที่มักกะสันเป็นสถานีจอดให้รับกับขบวนรถที่นำมาวิ่งด้วย และต้องปรับปรุงพื้นที่ อุปกรณ์ภายในสถานี

“ขบวนรถใหม่ที่ซื้อต้องเป็นยี่ห้อเดียวกับรถไฟความเร็วสูง เพราะจำนวนการสั่งผลิตไม่ได้เยอะมาก และจะได้ลดต้นทุนด้วย ยังไม่รู้ว่าจะเป็นซีเมนส์เหมือนเดิม หรือจะเป็นของญี่ปุ่นที่จะปล่อยกู้เงินลงทุนหรือของจีน มี 3 ยี่ห้อที่กำลังเทียบราคากันอยู่ มีซีเมนส์เสนอขบวนรถไฟความเร็วสูง CRRC เสนอทั้งรถแอร์พอร์ลิงก์และรถไฟความเร็วสูงทั้งเป็นแบบลำตัวกว้างและแคบ และฮุนได จากเกาหลีใต้ เสนอทั้งรถแอร์พอร์ตลิงก์และไฮสปีด”

ส่วนรถเก่า 9 ขบวนยังใช้งานได้ แต่ปีหน้าต้องถึงคิวซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ รอดูนโยบายว่าจะซ่อมหรือจะซื้อใหม่ทั้งหมด เพื่อการใช้ในงานในระยะยาว หากซ่อมจะต้องซื้ออุปกรณ์ควบคุมระบบอาณัติสัญญาณไว้ในตัวรถเพิ่มเพื่อรับกับระบบอาณัติสัญญาณใหม่ที่จะเปลี่ยนเป็นใช้ระบบสื่อสารที่เปิดกว้างให้รถยี่ห้อไหนมาวิ่งบริการก็ได้ จะใช้เงินลงทุนหลัก 100 ล้านบาท

“เงินลงทุนยังไม่นิ่ง แต่โดยรวมเบื้องต้นคาดว่าจะประมาณ 5,000 ล้านบาท เช่น ปรับปรุงอาณัติสัญญาณคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 500 ล้านบาท ซื้อรถใหม่ ซึ่งราคาอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท/ขบวน หากซื้อเพิ่ม 5 ขบวนก็อยู่ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท แต่ถ้าซื้อ 9 ขบวนอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนรถที่จะซื้อ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องอัพเกรดระบบเก็บค่าโดยสารให้สามารถรองรับบัตร TrueMoney Wallet ได้ด้วย นอกจากรองรับระบบตั๋วร่วมตามที่รัฐบาลมีนโยบายแล้ว โดยจะออกแบบบัตรโดยสารใหม่ให้สามารถใช้แตะเข้ากับระบบรถไฟฟ้าได้ เพราะรูปแบบเดิมไม่มีที่สแกน เมื่อเข้าไปแล้ว จะพัฒนาระบบให้รับกับบัตรทรูมันนี่ได้ด้วย

ส่วนค่าโดยสารเป็นไปตามทีโออาร์ในเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์จากพญาไท-สุวรรณภูมิไม่เกิน 45 บาท/เที่ยว แต่ถ้าเปิดส่วนต่อขยายเพิ่มเติมไปยังบางซื่อ และดอนเมือง จะเก็บได้ไม่เกิน 97 บาท/เที่ยว