New Norm อสังหา “พฤกษา” ล้างไพ่ – “แสนสิริ” เขย่าพอร์ต

ดีเวลอปเปอร์ทุกคนบอกว่าโควิด-19 ทำให้ต้องทำธุรกิจภายใต้เงื่อนไข new normal

สำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีความเคลื่อนไหว 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

ทั้งแบบเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

พฤกษาฯล้างไพ่ซีอีโอพรีเมี่ยม

อันดับแรก คือการยื่นใบลาออกของ “ดีเวลอปเปอร์แมว 9 ชีวิต” “เสี่ยเล็ก-ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพฤกษาฯพรีเมี่ยม

“ประเสริฐ” คว้าใบสมัครเข้าพฤกษาเรียลเอสเตทเมื่อปี 2548 อยู่นาน 15 ปีก่อนจะยื่นใบลาออกจากเก้าอี้ซีอีโอพอร์ตพรีเมี่ยม มีผล 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

อาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาพฤกษาฯ ถูกจังหวะ ถูกเวลา ไม่เพียงแต่ได้รับหุ้นแจก 1 ล้านหุ้นในโอกาสนำพฤกษาฯเข้าไปจดทะเบียนเป็น listed company ประเสริฐได้รับความไว้วางใจปั้นพอร์ตคอนโดมิเนียมตลาดแมสจนกระทั่งมีที่ยืนในทำเนียบท็อป 10 ท็อป 5

ต่อมา การเปลี่ยนแปลงแบบไมเนอร์เชนจ์ พฤกษาฯซึ่งไม่เคยประสบความสำเร็จจากพอร์ตพรีเมี่ยม ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวพรีเมี่ยม และคอนโดฯพรีเมี่ยม

“ประเสริฐ” ถูกผลักอีกครั้งให้ตั้งพอร์ตใหม่ คราวนี้เป็นคอนโดฯพรีเมี่ยม ซึ่งก็ไม่ผิดหวังฝากฝีมือจนทำให้พฤกษาฯเบียดแทรกเข้ามาอยู่ในแรงกิ้งได้ในเวลารวดเร็ว

แต่แล้วการลาออกกลางทางก็เกิดขึ้นแบบมีเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ในขณะที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลงานการโอนห้องชุดจากพอร์ตพรีเมี่ยมอย่างเต็มที่ ทิ้งความสำเร็จจากยอดพรีเซลทะลักทลายไว้ข้างหลัง

แม้จะมีหลายเหตุผลแบบไม่เป็นทางการ บ้างก็ว่าเคมีไม่ตรงกันระหว่างก๊กผู้บริหารระดับท็อปแมเนจเมนต์ บ้างก็ว่าเป็นอาถรรพ์ของตึกเพิร์ลแบงค็อกซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการแห่งใหม่ ฯลฯ

ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แมวเก้าชีวิตอย่างเขาหาที่ยืนได้เสมอ หลังจากรับบำเหน็จก้อนโตเป็นเงิน providence fund ครึ่งหนึ่งกับค่าทำขวัญอีกครึ่งหนึ่ง รวม ๆ ตัวเลขใกล้ 40 ล้านบาท

อนันดาฯคว้าตัวชิงดำโกลด์

จากตอนแรกมีข่าวปล่อยหนาหูถูกชักชวนเข้าร่วมชายคาโกลเด้นแลนด์ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ พอร์ตที่มี “เสี่ยยอด-ปณต สิริวัฒนภักดี” นั่งหัวโต๊ะเป็นทั่นประธานของเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป

แต่คนที่คว้าตัวไปได้กลับกลายเป็น “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” บิ๊กบอสแห่งค่ายอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์

ในสถานการณ์ที่ต้องยอมรับว่าบริษัทใดที่พอร์ตห้องชุดในมือเยอะ เจอมาตรการ LTV-loan to value ของแบงก์ชาติเข้าไปดอกแรก กับเจอโควิดอีกดอกที่สอง บอกได้คำเดียวว่าเหนื่อยกันทุกราย

น่าสนใจว่าที่ยืนของ “ประเสริฐ” ยังสง่างามบนระนาบเบอร์ 2 ขององค์กรใหญ่

แสนสิริขายหุ้นกู้ตลอดชีพ

สำหรับความเคลื่อนไหวแบบไม่เป็นข่าว นาทีนี้ต้องยกให้กับค่ายแสนสิริ

ล่าสุด กำลังจะเปิดขายหุ้นกู้ Subordinated Perpetual Bond หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป วงเงิน 3,000 ล้านบาท

ดีเดย์ 22-25 มิถุนายน 2563 นี้

ชีพจรการลงทุนของแสนสิริกับเป้าหมาย 6-7 เดือนที่เหลือของปี 2563 ไม่มีใครเชื่อว่าทำไม่ได้ ตัวเลขผลงาน5 เดือนแรกการันตีว่าสามารถทำผลงานเข้าใกล้เป้าหมายทั้งปี

เขย่าพอร์ตหุ้นร่วมทุนเดอะไลน์

ในเวลาเดียวกัน ข่าวเอิกเกริกเมื่อ 16 ตุลาคม 2557 เป็นเวทีแถลงดีล JV-joint venture ระหว่าง “แสนสิริ+บีทีเอส กรุ๊ป” กลุ่มคีรี กาญจนพาสน์ โดยประกาศแผนร่วมทุน 5 ปีจะมีมูลค่าโครงการรวม 1 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท ภายใต้แบรนด์คอนโดฯ“เดอะไลน์”

เวลาผ่านไปหลังจากครบดีล 5 ปีมีการเขย่าพอร์ตร่วมทุนเกิดขึ้น สัญญาณแรกมาจากวันที่ 16 มกราคม 2563 แสนสิริแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯในการขายหุ้น 50% ในบริษัท BS 18-บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง เอททีน ให้กับค่ายโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์

ต่อมาซื้อขายหุ้นลอตใหญ่ 4 บริษัทในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ระหว่างแสนสิริกับ “ยูซิตี้” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีทีเอส กรุ๊ป ดังนี้

1.แสนสิริขายหุ้น 50% ในบริษัท BS 15-บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ฟิฟทีนให้ยูซิตี้

2.ยูซิตี้ขายหุ้น 50% ในบริษัท BS 20-บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ทเวนทีให้แสนสิริ

3.บีทีเอสขายหุ้น 50% บริษัท BS 24-บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ทเวนทีโฟร์ ให้แสนสิริ 4.บีทีเอสขายหุ้น 50% บริษัท BS 25-บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ทเวนทีไฟฟ์ ให้แสนสิริ”

เสี่ยช้าง-อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการค่ายแสนสิริ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คอนโดฯเดอะไลน์ที่เป็นโครงการร่วมทุนยังคงทำอยู่ รวมทั้งแผนร่วมทุนพัฒนาโครงการก็ยังมีต่อเนื่อง โดยยังมีที่ดินเหลือ 9-10 แปลงรอพัฒนา

บีทีเอสปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

อีกฟากมาจาก “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานบริหาร BTS-บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จากเดิมมี 4 ธุรกิจ ได้แก่ ระบบขนส่งมวลชน สื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์ บริการ

“ด้านธุรกิจอสังหาฯ โรงแรมและบริการร้านอาหาร จะอยู่กลุ่มเดียวกัน ภายใต้ บมจ.ยูซิตี้ ซึ่งการลงทุนอสังหาฯ เราไม่ค่อยถนัด จะร่วมกับผู้ประกอบการในตลาดเหมือนร่วมกับแสนสิริ อนันดาฯ โนเบิลฯ”

บีทีเอสไม่ได้ผูกมัดเฉพาะแสนสิริอีกต่อไป อาจร่วมทุนกับรายอื่นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอนันดาฯ ซึ่งปลายปี 2562 เพิ่งเซ็น MOU ร่วมทุนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส 200 ไร่ติดถนนบางนา-ตราด หน้าโครงการธนาซิตี้ รวมทั้งร่วมทุนกับกลุ่มโนเบิลฯ ซึ่งบีทีเอสเข้าไปซื้อหุ้นในช่วงที่ผ่านมา

“แสนสิริมีขายหุ้นบางโครงการออกไป เป็นเรื่องของธุรกิจเมื่อเห็นว่ามีกำไรก็ขาย ซึ่งเราก็เปลี่ยนมาร่วมกับพันธมิตรใหม่เดินหน้าโครงการต่อ” คำตอบแบบส่งสัญญาณจาก “เควิน กาญจนพาสน์”