“BTS” ชี้ลงทุนช่วงโควิดเหมาะสุด มั่นใจชิง “สายสีส้ม” เร่งสายสีเขียวเปิดถึงคูคต ธ.ค. นี้

นายสุรพงศ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวในงานสัมมนา “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” จัดโดยเครือมติชนว่า ในช่วงโควิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหมาะสมที่สุด เพราะใช้เวลาก่อสร้างนาน ซึ่งคาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้ว การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดก็จะสร่างซาลงไป และทำให้เรามีความพร้อมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ในส่วนของบีทีเอส ช่วงโควิดที่ผ่านมาเร่งการลงทุนตลอด โดยมีโครงการในมือ ประกอบด้วย รถไฟฟ้า 4 เส้นทาง เริ่มที่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งให้บริการมา 20 ปี และส่วนต่อก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ส่วนขยายทั้งด้านใต้และด้านเหนือทยอยเสร็ตทั้งหมดแล้ว โดยช่วงสายใต้ ช่วงแบริ่ง – สมึทรปราการ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบมาประมาณ 1 ปีแล้ว ส่วนสายเหนือช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ปัจจุบันเปิดไปถึงสถานีวัดพระศรีฯ คาดว่าในเดือนธ.ค.นี้จะเปิดถึงสถานีคูคต

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว 50% โดยทั้งสองสายถือเป็นโมโรเรลสายแรกของไทย ซึ่งบีทีเอสพยายามเร่งรัดการดำเนินการอยู่ โดยคาดว่าช่วงปลายปี 2564 จะเปิดให้บริการได้ แต่ช่วงสายสีชมพูอาจจะเปิดได้เป็นช่วงๆไปก่อน เพราะติดปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กแบบเดียวกับที่ใช้ในสนามบิน มีระยะทาง 1.8 กม. แนวเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถ.เจริญนคร ผ่านไอคอนสยาม ไปสิ้นสุดที่รพ.ตากสิน ความคืบหน้าของโครงการงานโยธานขณะนี้ก้าวหน้าแล้ว 96% ส่วนงานระบบมีความคืบหน้า 84% โดยเมื่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดปัญหาการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในไซส์งงาน กำลังเร่งแก้ไขอยู่ คาดว่าเดือน ต.ค.นี้จะเปิดให้บริการ

ขณะที่งานด้านอื่นๆ ก็มีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท โดยครั้งนี้ร่วมกับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ. ซิโน-ไทย (STEC) โดยเซ็นสัญญาโครงการไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 4 ปีครึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ถือเป็นการมาช่วยทอท.แบ่งเบาภาระการรองรับศักยภาพผู้โดยสารในประเทศไทย และถือเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ

อีกงานหนึ่งคือ งานติดตั้งระบบ O&M มอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี และมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา วงเงิน 39,138 ล้านบาท ร่วมบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ซิโน-ไทย และบมจ.ราชกรุ๊ป ล่าสุดผ่านการพิจารณาของครม.แล้ว คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือน ส.ค.นี้ โดยสายบางปะอินจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีเสร็จ ทั้งนี้บีทีเอสยินดีให้ความร่วมมือถ้ารัฐบาลจะให้เปิดบริการบางส่วนก่อน ส่วนช่วงบางใหญ่จะใช้เวลา 4 ปีในการก่อสร้าง เพราะเพิ่งเคลียร์เวนคืนได้ไม่นาน

ส่วนโครงการที่สนใจลงทุนในอนาคต เป็นโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นส่วนใหญ่ เริ่มที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 142,789 ล้านบาท โดยได้เข้าซื้อซองประมูลกับ รฟม.แล้วเมื่อวันที่ 10 ก.ค.และพร้อมจะยื่นซองประมูล‪ในวันที่ 23 ก.ย.‬นี้แน่อน และยังมีอีกหลายโครงการที่รัฐบาลต้องการให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งเราต้องการเข้ามาช่วยภาครัฐ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุดและได้ของที่ดีที่สุด