ยกเครื่อง 29 ท่าเรือ เชื่อมรถไฟฟ้า ประเดิม “ท่าช้าง-ปิ่นเกล้า” ปีนี้

ปรับปรุง 29 ท่าเรือ เชื่อมรถไฟฟ้า ประเดิม

“อธิรัฐ” กางแผนปั้นผลงาน “เจ้าท่า” ลุยยกเครื่อง 29 ท่าเรือเจ้าพระยา เป็นสถานีเรือ เชื่อมรถไฟฟ้า ปีนี้นำร่อง 10 ท่า พ่วงนำเรือไฟฟ้าวิ่ง 3 เส้นทางดึง “EA” เปิดตัวเรือต้นแบบ ส่วนคลองแสนแสบยังไม่ชัวร์ เอกชนหวั่นสู้ต้นทุนไม่ไหว

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดกรมเจ้าท่าปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ ตามแผนดำเนินการปี 2562-2566 ใช้งบประมาณ 1,144 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วเปิดสถานีท่าสาทรเป็นสถานีต้นแบบ ในปีนี้จะปรับปรุงอีก 7 ท่า ได้แก่ ท่าช้าง, ท่าเตียน, วัดโพธิ์, ราชินี, สาทร, พระราม 5 และพระราม 7 จะเสร็จต้นปี 2564

ยังจะพัฒนาอีก 22 ท่า อยู่ระหว่างของบฯปี 2564 จำนวน 2 ท่า คือ ท่าเรือเกียกกายและท่าเรือบางโพ จะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน และของบฯปี 2565 อีก 10 ท่า คือ ท่าเรือพิบูลสงคราม 3, ท่าเรือเขียวไข่กา, ท่าเรือพายัพ, ท่าเรือสะพานกรุงธน, ท่าเรือเทเวศร์, ท่าเรือปิ่นเกล้า, ท่าเรือพรานนก, ท่าเรือสะพานพุทธ, ท่าเรือราชวงศ์ และท่าเรือสี่พระยา จะเปิดปี 2566

และของบฯ ปี 2566 จำนวน 10 ท่า คือ ท่าเรือปากเกร็ด, ท่าน้ำนนทบุรี, ท่าเรือวัดตึก, ท่าเรือพิบูลสงคราม 1, ท่าเรือวัดสร้อยทอง, ท่าเรือวัดเทพากร, ท่าเรือวัดเทพนารี, ท่าเรือรถไฟ, ท่าเรือโอเรียนเต็ล และท่าเรือวัดเศวตฉัตร จะเปิดบริการปี 2567

สำหรับเรือไฟฟ้าจะนำมาวิ่งบริการ ได้รับความร่วมมือจาก บจ.สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น และ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดยสกุลฎ์ซีฯจะออกแบบเรือสำหรับใช้เป็นเรือท่องเที่ยวนำร่องเส้นทางภูเก็ต-อ่าวพังงา ส่วน EA จะสนับสนุนเรือไฟฟ้าใช้ในแนวแม่น้ำเจ้าพระยา

“ปีแรกเอกชนจะผลิต 40 ลำ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและพิจารณาท่าเรือที่เหมาะสมกับการจอดเรือ ขณะที่เรือไฟฟ้าต้นแบบจะนำมาวิ่งคลองแสนแสบ คาดว่า ส.ค.นี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อยู่ระหว่างให้เอกชนปรับปรุงและพิจารณาปรับเปลี่ยนเรือโดยสารอยู่”

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงท่าเรือตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา กรมจะเร่งรัดให้เสร็จในปีนี้ 11 ท่า ได้แก่ ท่าช้าง, ท่าเตียน, ราชินี, วัดโพธิ์, สะพานพุทธ, ราชวงศ์, กรมเจ้าท่า, ท่าเรือสาทร, ท่าเรือพระราม 5, ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือปิ่นเกล้า

เมื่อปรับปรุงเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการวางระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น GPS, ระบบตั๋วร่วมแบบ e-Ticket และระบบกล้องวงจรปิด และกรมอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้มติ ครม.เมื่อ พ.ค. 2536 ให้ใช้ประโยชน์ท่าเรือแบบเชิงพาณิชย์ในบริเวณท่าเรือได้ จะเสนอกระทรวงคมนาคม ส.ค.นี้

ส่วนเรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างทดสอบและยังไม่มีกำหนดจะนำมาลงให้บริการจริง โดยเรือไฟฟ้าของสกุลฎ์ซีฯ จะทดลองวิ่งเส้นทางท่องเที่ยวช่วงภูเก็ต-อ่าวพังงา 30 ลำ ด้านเรือไฟฟ้าในคลองแสนแสบ จากผ่านฟ้า-ประตูน้ำ รองรับผู้โดยสารได้ 103 คน ซึ่ง บจ.ครอบครัวขนส่ง (2002) ผู้ประกอบการเดินเรือยังไม่ได้ตอบรับ เนื่องจากต้นทุนด้านเชื้อเพลิงยังคงสูงเพราะใช้ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ จึงต้องเจรจากับบริษัทให้หันมาใช้ โดยประสานกองส่งเสริมการพาณิชยนาวีช่วยเหลือด้านเงินลงทุน

ขณะที่เรือต้นแบบที่ EA ออกแบบ นำมาบริการแม่น้ำเจ้าพระยา จะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค.นี้ แต่บริษัทยังไม่ตัดสินใจจะนำเรือเสนอให้ผู้ประกอบการเดิมใช้หรือจะลงทุนเปิดเส้นทางใหม่ ทั้งนี้หาก EA จะเปิดเส้นทางใหม่ กรมมีแผนจะดำเนินการ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ปทุมธานี-สาทร, สมุทรปราการ-สาทร และปทุมธานี-ปากเกร็ด