ปรับผังเมือง กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ขยายรับรถไฟฟ้าใต้ดิน 3,335 ไร่

เกาะรัตนโกสินทร์

ครม. เห็นชอบขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก 3,335.9 ไร่ ขยายรับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง-สีส้ม-สีน้ำเงิน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 บริเวณ คือ 1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน 2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และ 3.บริเวณฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเป็น 4 บริเวณ

“โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยาย บริเวณที่ 4 คือ พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์”

น.ส.รัชดากล่าวว่า การขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจากปัจจุบันมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เช่น โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รวมทั้งการท่องเที่ยวในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ขึ้น โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชนพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ รวม 9 ครั้ง และคณะกรรมการการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติเห็นชอบแล้ว”

สาระสำคัญ คือ เป็นการขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ จากเดิม 3 บริเวณ คือ กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ เป็น 4 บริเวณ

โดยเพิ่ม “พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,335.9 ไร่ ตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม วัดบางขุนพรหม(ธนาคารแห่งประเทศไทย) และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

น.ส.รัชดากล่าวว่า ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายสาขา รวมวงเงินประมาณ 22,022.04 ล้านบาท ประกอบด้วย 8 สาขา 18 แผนงาน เช่น สาขามรดกวัฒนธรรม มี 2 แผนงาน คือ การคุ้มครองและบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งมรดก และการส่งเสริมฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม วงเงิน 4,182 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ในส่วนของงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานเอง

และ 2.ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์รายพื้นที่ เป็นการนำยุทธศาสตร์ฯ รายสาขา มาบูรณาการใน 12 พื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณเพิ่มเติม ประกอบด้วย 12 พื้นที่ เช่น บริเวณพระบรมมหาราชวัง (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน) บริเวณ ย่านบางลำพู บริเวณวัดดุสิตาราม-บางยี่ขัน เป็นต้น

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการการทำงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการหลัก

“แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนและจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน สำนักวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านผังเมืองและการควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำสาระสำคัญของแผนแม่บทฯ ในส่วนที่จำเป็นไปบังคับใช้ต่อไป จึงไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบต่อประชาชน เพราะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก่อน” น.ส.รัชดากล่าว