สมเจตน์ ทิณพงษ์ “ทวายโปรเจ็กต์เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทิ้งเรา”

สมเจตน์ ทิณพงษ์
สัมภาษณ์พิเศษ

ยังต้องจับตาถึงที่สุดแล้ว “โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” หลังจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้รับสัมปทาน ถูกคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของประเทศเมียนมา (DSEZ MC) ยกเลิกสัญญาจะไปต่ออย่างไร

หลัง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวายขึ้นมา ดูกติกาการคุ้มครองการลงทุน มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ขุนคลัง เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา (JCC) เจรจากับทางเมียนมาเนื่องจากเป็นผู้เจรจามาตั้งแต่แรก

ด้านความเคลื่อนไหวของอิตาเลียนไทยหลังทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ฝั่ง “เปรมชัย กรรณสูต” ประชุมระดับผู้บริหารติดต่อกันอยู่หลายวัน เพื่อตั้งรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะตามมา รวมถึงเร่งทำหนังสือชี้แจงทางเมียนมาควบคู่ไปด้วย

ขณะที่แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ระบุว่า บริษัทและคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ เนื่องด้วยยังมีความเห็นไม่ตรงกับข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ DSEZ MC

“บริษัทไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงในการยกเลิกสัญญาสัมปทานของ DSEZ MC มีแรงผลักดันมาจากเรื่องใด และจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะยกเลิกโครงการเลยหรือไม่ บริษัทและคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนได้ดำเนินการลงทุนในโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา ดังนั้น จึงมีความเชื่อได้ว่ารัฐบาลไทยจะมีบทบาทในการคุ้มครองนักลงทุนไทยในการลงทุนในเมียนมา”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับสถานะโครงการทวายก่อนที่ประเทศเมียนมาจะยกเลิกสัญญานั้น อยู่ระหว่างการเจรจากับคณะกรรมการ DSEZ MC เกี่ยวกับเงื่อนไขบังคับในสัญญาสัมปทาน

ด้าน “สมเจตน์ ทิณพงษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ชี้แจงถึงปมปัญหาเผือกร้อนว่า โครงการทวายมีการเซ็นสัญญาพัฒนาเฟสแรกพื้นที่ 27 ตร.กม. เมื่อปี 2559 ระยะเวลา 50 ปี ต่อได้อีก 15 ปี จากผลกระทบที่เกิดขึ้นผมเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทิ้งเรา

เพราะความเป็นมาของทวายมีปฐมเหตุจากแนวนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2548 และเมื่อปี 2551 รัฐบาลมี MOU (บันทึกข้อตกลง) ร่วมกับรัฐบาลเมียนมา จะลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแนว East-West Corridor ส่วนเอกชนเป็นหน่วยปฏิบัติที่พอเคลื่อนตัวได้ เมื่อเซ็น MOU แล้วจึงทำให้เอกชนมั่นใจเข้าไปลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ก่อนจะเป็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่เฟสแรก พื้นที่ 27 ตร.กม.

“รัฐก็ต้องทำหน้าที่ว่ารัฐบาลไม่ทิ้งเรา เพราะมี MOU กรอบอาเซียนมาแต่เดิม และถามว่ารัฐบาลเอาอะไรไปช่วย รัฐบาลก็มีการดูแลโครงการนี้ภายใต้กรอบ JHC ผมในฐานะเอ็มดีของโครงการ ผมว่าไม่น่าห่วงเพราะรัฐบาลไม่ทิ้งเรา หลักการที่จะคืนเงินลงทุนที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ มีตามการปกป้องดูแลการลงทุนของเอกชนของประเทศตัวเอง ให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง ชอบธรรม เป็นธรรม ถ้าเราผิดเราจะไปขออะไรเขา ต้อง fair game”

ส่วนมีการระบุว่าบริษัทไม่จ่ายค่าสิทธิสัมปทาน “สมเจตน์” กล่าวว่า เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่มีปมที่มาช่วงนั้นติดโควิดไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ที่ผ่านมายังไม่ได้รับอนุมัติให้พัฒนาโครงการ มีหยุดก่อสร้างด้วย และไม่เกี่ยวกับสภาพคล่องของอิตาเลียนไทยฯ

“โควิดเป็นปัจจัยและตัวแปรหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนย้าย การเจรจากันมันยากไปหมด ผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่ทิ้งนักลงทุนไทยในต่างประเทศเมื่อเกิดปัญหา”

การที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วย ไม่ใช่เป็นการอุ้มอิตาเลียนไทยฯ เป็นเรื่องที่แต่ละคนต่างมีหน้าที่ทำตามหลักการ เหตุผล และสปิริต และเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลตั้งแต่ต้น ภายใต้ MOU กฎหมายอาเซียน และคณะกรรมการ JHC มีการตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ขึ้นมากำกับดูแลและขับเคลื่อนโครงการ

เมื่อโครงการสะดุดมีปัญหาก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องช่วยด้วย ซึ่งโครงการเป็นประโยชน์ต่อประเทศและนำทุนที่เข้าไปลงทุน เพราะการลงทุนต่างประเทศเป็นนโยบายของรัฐด้วย