30 ปี เอพี ไทยแลนด์ ปี 2564 ชู 3 ยุทธศาสตร์ย้ำตัวจริงในอุตสาหกรรม

30 ปี เอพี ไทยแลนด์ ปี 2564 เติบโตก้าวหน้า โตอย่างผู้นำ ชู 3 ยุทธศาสตร์ย้ำตัวจริงในอุตสาหกรรม

ปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด แต่ AP Thai ฉายภาพผู้นำด้วยผลประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับแต่ก่อตั้งบริษัท

ปี 2564 จึงเป็นการต่อจิ๊กซอว์แผนธุรกิจที่ต้องการเติบโตก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง และเติบโตอย่างผู้นำในวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย เพราะเป็นปีที่ดีทั้งผลประกอบการโดดเด่น และเป็นปีที่ดีจากการครบรอบก่อตั้งองค์กร 30 ปี

หนึ่งในบิ๊กอีเวนต์ของเอพีเป็นการเปิดเวทีให้สัมภาษณ์แชร์ประสบการณ์ 3 ทศวรรษ โดย “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ความสำเร็จที่ไม่มีทางลัด และไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ แต่เกิดจาก vision และ mission องค์กร 100%

จับตา Ripple Effect

ณ เวลานี้ถือเป็นอีกช่วงสำคัญหนึ่งในหน้าประวัตศาสตร์ วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างบททดสอบและบทเรียนหลาย ๆ ประการให้กับเราทุกคนในโลก ความผันผวนที่โควิดสร้างขึ้นในวันนี้สร้างความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่นี้ ทั้งความผันผวนทางภาคเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ต่างไปจากเดิม และที่ไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม

การมาของวัคซีนแน่นอนว่าคือความหวัง แต่หนทางเดินเพื่อให้ไปถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จนกว่าวัคซีนและโควิด-19 จะจบ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเราทุกคนต้องระวังมากที่สุดตอนนี้ คือ สิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ระลอกคลื่น หรือ ripple effect

ปกติเซ็นเตอร์ของคลื่นถ้าเราโยนหินลงในน้ำนิ่งก็จะเกิดระลอกคลื่น เซ็นเตอร์ของระลอกคลื่นอันนี้ คือ ความเสียหายที่วิกฤตโควิดสร้าง และทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจส่งผลต่อเวลาในการฟื้นตัวที่ต้องลากยาวออกไปอีกนานพอสมควร

มีการคาดการณ์ออกมาว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ภาวะก่อนการแพร่ระบาด ขณะที่โมเดลจำลองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงสมมติฐานว่า ปี 2570 คือปีที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปสู่แนวโน้มเดิม

อย่างไรก็ดี นั่นคือการคืนกลับในเชิงตัวเลขเท่านั้น ความน่ากลัวที่แฝงอยู่ คือ วิธีการทุกอย่างที่เราเคยทำและเรียนรู้มาจะเปลี่ยนไป และจะยังคงเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นแปลว่าจากวันนี้ไปอีกหลายปี เรายังคงต้องเผชิญอยู่กับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเปลี่ยนโลกรอบนี้

เราต้องพร้อมที่จะรับกับกติกาโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เราต้องไม่ย่อท้อและพร้อมก้าวเดินต่อ ไม่หยุดพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะได้คงอยู่และเติบโตได้อย่างมั่นคง

มีข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานของ McKinsey ได้ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น อัตราการใช้ e-Commerce ของร้านค้าปลีกในสหรัฐ เคยคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 5 ปี จึงจะแตะระดับ 24% ปรากฏว่าวิกฤตโควิดทำให้ยอดพุ่งสูงถึง 33% ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

นอกจากนี้ จากรายงานของ “We Are Social” ล่าสุดระบุว่า ประเทศไทยของเราครองแชมป์การทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง เป็นอันดับ 1 ของโลก สูงถึง 68.1% ต่อเดือน นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ถ้าใครก้าวตามไม่ทัน ก็คงจะไม่สามารถคงอยู่ได้

พันธกิจ Empower Living

เมื่อสถานการณ์ของโลกและประเทศไทยเป็นอย่างนี้แล้ว AP ในทศวรรษที่ 3 จะก้าวต่ออย่างแข็งแกร่งอย่างไร

ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คงไม่ต่างจากเราอยู่ในเรือที่กำลังฝ่ามรสุมรุนแรง สิ่งที่จะทำให้เราผ่านพ้นมรสุมนี้ไปได้ ก็คือ 1.เราต้องรู้ว่าเรือจะต้องแล่นไปในทิศทางใดที่ถูกต้อง 2.เรือมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมฝ่าฟันไปในทิศทางที่เราต้องการ และสุดท้าย 3.ความสามารถและการร่วมมือของบุคลากรในเรือลำนั้น ที่จะใช้เครื่องมือนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ทิศทางสำหรับบริษัทก็คือ vision/mission ขององค์กร ถ้าจำกันได้ ผมเคยพบกับพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อนนักข่าว เมื่อปี 2562 ซึ่ง vision/mission ของ AP ตอนนั้น เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Stanford ก็คือการ “provide quality of life” เราจะเป็นคนที่สร้างและจัดหาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้า แต่หลังจากนั้น เราพบว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของคนแต่ละคนมีการตีความแตกต่างกัน ดังนั้น เราต้องมองคุณภาพชีวิตในมุมมองของลูกค้า ไม่ใช่มุมมองของเรา

ผมและทีมงานได้ทำงานร่วมกับบริษัท Subrosa ที่ New York เพื่อที่จะทำการ fine tune vision/mission ของเรา ซึ่ง Subrosa เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้าน branding และทางด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เคยทำงานให้บริษัทใหญ่ ๆ ในโลกมามาก

Subrosa ได้ชี้ให้เราได้เห็นว่า vision/mission ที่ดี ต้องเป็นสิ่งที่เกิดจาก “มุมมองของลูกค้า” ไม่ใช่สิ่งที่ “บริษัทอยากจะทำให้ลูกค้า”

จะเห็นว่าบริษัทใหญ่มักตั้งคำถามว่า อยากจะทำอะไรให้ลูกค้า ไม่ใช่ครับ vision/mission ที่ดี คือ เตือนคนในองค์กรเสมอว่า เราต้องมองในมุมมองของลูกค้า ยกตัวอย่าง 2 ราย บริษัท Nike ใช้คำว่า “Just do it” ใครที่ Just do it ก็คือคนที่ใช้รองเท้าไนกี้ อีกตัวอย่าง BMW ใช้คำว่า To drive Pleasure ขับอย่างมีความสุข ใครครับที่ขับรถ BMW อย่างมีความสุข ก็คือลูกค้า

เพราะฉะนั้น vision/mission ที่ดี ต้องประกาศออกไป และคนในองค์กรต้องมีมุมมองของลูกค้าในการ serving ตามไปในทิศทางนั้น เราก็เลยใช้คำว่า empower living

ความหมายของ empower living มีว่า create and provide the support that enables people to live and enjoy life on their terms เน้นคำว่า on their terms แปลออกมาว่า เราคือผู้สร้างและจัดหาสินค้าและบริการที่เกื้อหนุนให้ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ AP สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตที่ดี ในแบบที่ต้องการได้ด้วยตนเอง นี่คือมุมมองของลูกค้า

ซึ่งวันนี้ empower living เราได้ประกาศกับพนักงานภายในเป็นปีแล้ว เปรียบเหมือนเป็นเข็มทิศในการนำทางให้พนักงานกว่า 2,000 คน เดินไปสู่ผลลัพธ์ที่เราตั้งใจ

3 ยุทธศาสตร์เติบโตอย่างผู้นำ

หลังจากปรับ vision/mission แล้ว เราก็เตรียมเครื่องมือซึ่งก็คือ กลยุทธ์ หรือ strategies ที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ strategy แรก การสร้างทุกคนในองค์กรให้เป็น “independent responsible leaders” ซึ่งหมายถึงเป็นผู้นำที่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อตนเอง ลูกค้า คู่ค้า เพื่อนร่วมงาน และทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งยังมีการทำงานโดยมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้ามากกว่าข้อกำหนดของบริษัท หรือข้อจำกัดขององค์กร ที่ AP เชื่อว่าการที่เราให้อำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระแก่คนทำงาน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดลูกค้าโดยตรง จะทำให้ AP สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพกว่าอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คนเพียงไม่กี่คนในองค์กร
แน่นอนว่าในการสร้างให้พนักงานให้เป็น independent responsible leader นี้ สิ่งที่เราใช้ในการพัฒนาบุคลากรทั้งองค์กร ก็คือ “outward mindset” สอนให้คนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข โดยการเข้าใจความต้องการ จุดมุ่งหมาย และความท้าทายของผู้อื่น

สร้าง Innovative Culture

strategy ที่ 2 สร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อสร้างนวัตกรรม หรือ innovative culture การที่พนักงาน AP ทุกคนจะสามารถทำให้ empower living สมาชิกทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะทำหน้าที่ในบทบาทใด หรือรับผิดชอบเรื่องใด พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ผ่านการปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีระบบการคิดตามหลัก design thinking

หลักการของ design thinking เชื่อว่า ทุกคนเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ได้ ถ้าได้เรียนรู้การคิดวิเคราะห์อย่างมีกระบวนการ วันนี้การสร้างนวัตกรรมจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การ “ฝันถึงสิ่งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่” เท่านั้น แต่นวัตกรรมที่มีค่าที่สุด คือ สิ่งที่สามารถตอบ unmet need หรือความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าได้ ถึงจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม

มุ่งสู่ Everything Digital

Strategy สุดท้าย “everything digital” พลิกเกมธุรกิจ ทรานส์ฟอร์มทุกมิติของการดำเนินงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับ 2 กลยุทธ์แรก

ทั้งนี้ การลงมืออย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการสร้างนวัตกรรม จำเป็นต้องมีข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ค้นหา unmet need ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้น ลูกค้าจะต้องได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้สินค้าและบริการจากเรา

สิ่งที่เอพีทำเพื่อเร่ง digital transformation คือ การสร้างทีมใหม่ ที่เรียกว่า digital transformation team เพื่อทำงานประสานร่วมกับทีม IT เดิมที่มีอยู่ เพื่อต่อยอดความสามารถในทาง digital/IT ให้ไปได้เร็วยิ่งขึ้น

ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์นี้ หากเราสามารถสร้างผู้นำอิสระที่มีความรับผิดชอบสูงสุด ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเรา ผู้ที่สามารถวิเคราะห์และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว หากเราสามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมได้เกิดขึ้นแก่คนทุกระดับในองค์กร และถ้าเราสามารถทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลแบบครบลูปในทุกมิติ

เราก็จะสามารถสร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ลูกค้า สามารถเลือกที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในแบบที่ต้องการด้วยตนเอง ตามความหมายของ empower living ที่เรากำหนดไว้

คีย์ Results & Deliveries

วันนี้ เอพี ไทยแลนด์ ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 30 ภายใต้พันธกิจ Empower Living โดยมี 3 ยุทธศาสตร์สำคัญที่เราได้นำมาใช้แล้ว ได้กลายเป็นพื้นฐานนำมาสู่ความแข็งแกร่ง และได้นำพาองค์กรก้าวผ่านวิกฤตในปีที่ผ่านมาได้อย่างเกินความคาดหมาย

โดยปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของ COVID บริษัทมีผลดำเนินงานเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในมิติรายได้รวมเติบโตขึ้น 40% จากปีก่อนหน้า หรือเท่ากับ 46,130 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิมากถึง 4,225 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 38% และภายใต้การบริหารจัดการสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำสุดในประวัติการณ์เพียง 0.71 เท่า

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เห็นผลได้ชัดมาก คือ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจบ้านเดี่ยว มีการเติบโตจากรายได้หลักพันล้าน สู่หลักหมื่นล้านภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี ในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจบ้านเดี่ยวสร้างรายได้ new record มากถึง 12,137 ล้านบาท จาก 4,990 ล้าน ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่เราเริ่มนำ 3 กลยุทธ์นี้มาใช้ในช่วงปลายปี

นอกจากนั้นแล้ว ผลลัพธ์จาก 3 ยุทธศาสตร์ ยังนำไปสู่การ empower ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับเรา ทั้งลูกค้า พาร์ตเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเรา และพนักงาน ผมขอยกตัวอย่างสั้น ๆ ให้ทุกท่านเห็นภาพ ดังนี้

ในมิติลูกค้า smart world คือ ดิจิทัลเซอร์วิส แพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยผสมผสานวิธีคิดภายใต้หลัก design thinking เข้ากับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยมอบอำนาจในการใช้ชีวิตให้กับลูกค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกเหนือจากฟีเจอร์งานบริการขั้นพื้นฐานที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในประจำวันแล้ว จุดต่างของ smart world ให้ความสำคัญกับการสร้าง community ให้เกิดขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อโลก offline กับ online เข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ผ่านกิจกรรมและ ecosystem ต่าง ๆ ที่เราพัฒนาขึ้น

วันนี้เรามีลูกค้าใช้งาน smart world แล้วกว่า 60,000 users มียอด engagement หรือการเปิดใช้ เฉลี่ยต่อสัปดาห์ 30,000 users ทางทีมงานตั้งเป้ายอดคนใช้งานเพิ่มขึ้นในปีนี้เป็น 100,000 users พร้อมแผนการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเวนเดอร์แมเนจเมนต์

ในมิติของคู่ค้า เพื่อให้พันธมิตรทางธุรกิจของเราสามารถดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนโยบายการจ่ายเงินทุกอาทิตย์ที่เราทำมาตั้งแต่ตั้งบริษัทแล้ว เราได้ digitally transform ระบบ vender management ไปสู่ระบบออนไลน์ ผู้รับเหมาหรือพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ สามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการวางบิล ตรวจสอบ การอนุมัติ invoice ว่าได้รับการอนุมัติหรือยัง หรือตกค้างที่ใคร และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนำไปสู่การจ่ายเงิน online ซึ่งคู่ค้าของ AP เพียงแค่ต้องนำใบเสร็จมาให้ที่บริษัทเท่านั้น หลังจากได้รับเงินแล้ว

ปัจจุบันนี้ระบบ web vendor นี้ ครอบคลุมในส่วนงานพัฒนาโครงการแนวราบ ซึ่งมีคู่ค้าทั้งหมดกว่า 1,600 ราย และมีคู่ค้าเข้าไปใช้ระบบมากกว่า 200,000 ครั้งใน 1 เดือน

ปฏิวัติระบบงานเริ่มต้นที่ BIM

และตัวอย่างสุดท้าย เอพี ไทยแลนด์ ถือเป็นดีเวลอปเปอร์รายแรกและรายเดียวที่ประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มกระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง ไปจนถึงกระบวนการบริหารจัดการอาคารในคอนโดมิเนียมไปสู่ระบบดิจิทัล โดยมี BIM (building information modeling) เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนถ่ายกระบวนการครั้งสำคัญ

และนี่คือตัวอย่างผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และเรายังดำเนินงานโดยมี 3 ยุทธศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ให้พร้อมตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

วันนี้ไม่มีใครทราบได้ว่าจุดสิ้นสุดของวิกฤตครั้งนี้จะเป็นเมื่อไหร่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะเกิดขึ้นอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความผันผวนครั้งนี้ คือ คำมั่นสัญญาของเอพี ไทยแลนด์ ที่จะไม่หยุดทำหน้าที่ของเรา ในการเป็นผู้สร้างและจัดหานวัตกรรมสินค้า หรือบริการที่มีคุณค่า เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ

vision กับ strategies เปลี่ยนทุกปีไม่ได้ แต่ต้องมีความต่อเนื่องจึงจะได้ผล เรายังคงใช้พันธกิจ Empower Living เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนองค์กร และมั่นใจที่จะเติบโตก้าวหน้า และเติบโตอย่างผู้นำในปีนี้ และในอนาคต