ดีเบตเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม จุดตัดเชือก “ราคา” และ “เทคนิค”

ยังคงอยู่ในความสนใจ สนามประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปีสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม และรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย วงเงิน 128,128 ล้านบาท ที่สุดแล้วจะใช้เกณฑ์ชี้ขาดที่ “ราคา” หรือ “เทคนิคร่วมราคา”

ล่าสุด “รฟม.” กำลังรับฟังความคิดเห็นเอกชนหลังเปิดประมูลใหม่รอบสอง โดย รฟม.กำหนดรายละเอียดใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ ผู้ผ่านการพิจารณาซองที่ 1 (คุณสมบัติ) จะได้รับการพิจารณาซองที่ 2 (เทคนิค) และซองที่ 3 (การลงทุนและผลตอบแทน) ประเมินเป็นคะแนน 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนน 2 ซอง มารวมกัน ผู้ให้ผลประโยชน์ที่ดีสุดจะได้รับการพิจารณา

ทำไม “รฟม.” ยังใช้เกณฑ์นี้ประมูล ทั้งที่ยังมีเสียงกังขา การเปลี่ยนเกณฑ์กลางคัน จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และ รฟม.ตัดสินใจล้มประมูลตั้งต้นใหม่อีกครั้ง

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สายสีส้มช่วงตะวันตกเป็นอุโมงค์ใต้ดิน งานยาก ผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ใช้เวลาสร้าง 6 ปี ต้องมีมาตรการความปลอดภัยสูงที่สุด รฟม.จึงคิดว่าเทคนิคมีผลต่อการตัดสิน น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อโครงการ จึงกำหนดวิธีประเมินเป็นด้านเทคนิคและคุณภาพควบคู่คะแนนผลตอบแทนด้านการลงทุน สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องรายละเอียดร่างประกาศเชิญชวน ร่างทีโออาร์ และร่างสัญญาร่วมลงทุน ปี 2563 ในข้อ 4 (8) กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ให้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการตัดสินเป็นคะแนนในทุกด้านทั้งคุณภาพและราคา

“การพิจารณาคะแนนเทคนิคร่วมราคา 30 : 70 กำหนดเป็นตุ๊กตาตามความตั้งใจของ รฟม. รอฟังเอกชนเสนอความคิดเห็นกลับมาวันที่ 17-19 มี.ค. ไม่ว่าสัดส่วนคะแนนจะเป็นอย่างไร หรือจะให้ใช้ราคาอย่างเดียว เรารับฟังหมด เพื่อประมวลเป็นร่างประกาศเชิญชวน ร่างทีโออาร์ ร่างสัญญา เสนอกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เห็นชอบปลายเดือน มี.ค.นี้ จะเปิดขายซองเดือน เม.ย. และยื่นซอง มิ.ย.นี้ การกำหนดแบบนี้ เราคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการเป็นสำคัญ และสายสีส้มไม่ใช่โครงการแรก มีโรงจำกัดขยะของ กทม.ก็ใช้เกณฑ์คัดเลือกเหมือนกัน เทคนิค 90% ราคา 10%”

สำหรับวิธีประเมินผู้ชนะ นายภคพงศ์อธิบายว่า ดูการขอเงินสนับสนุนผลตอบแทนจะให้รัฐ และข้อเสนอเอกชนที่เป็นประโยชน์ดีที่สุดให้แก่ รฟม. นำการพิจารณาทั้งจากรายงานสรุป PPP โครงการ และมติคณะกรรมการ รฟม. วันที่ 7 ก.ย. 2561 มาชั่งน้ำหนักร่วมกัน ให้เกิดการแข่งขันมากราย ยุติธรรม จะรวมความน่าเชื่อถือ การเงินเป็นเพียงข้อเดียวที่อยู่ในประกาศ หลักเกณฑ์อื่น ๆ เจ้าของโครงการ คณะกรรมการคัดเลือกจะกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

“การล้มประมูลไม่ใช่ไม่โปร่งใส เพราะยังไม่เปิดข้อเสนอ และการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ก่อนยื่นข้อเสนอ แถมขยายเวลา 45 วัน ให้มีเวลา 70 วัน ทำข้อเสนอ มากกว่าเดิมกำหนดไว้ 60 วัน ถามว่าไม่ยุติธรรมตรงไหน เปิดประมูลใหม่ล่าช้าแค่ 1 เดือน ถ้ารอคดีสิ้นสุดช้าเป็นปี การประมูลใหม่น่าจะทำให้ความเสียหายโครงการน้อยที่สุด เปิดใช้ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ได้ในปี 2567”

ฝั่ง “BTS-บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” เปิดแถลงข่าวครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ยื่นฟ้องต่อศาลถึงการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม โดย “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า จุดยืนบริษัทไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาโดยเปิดซองเทคนิคพิจารณาควบคู่ไปกับราคา หรือ price & performance ซึ่งไม่มีความจำเป็น และบริษัทจะแสดงความคิดเห็นนี้ในการเปิดประมูลใหม่ด้วย

“ควรใช้เกณฑ์ตัดสินที่ราคาตามเดิม เพราะโครงการที่ผ่านมาก็ใช้วิธีพิจารณาซองตามลำดับนี้ตลอด เปิดซองที่ 1 คุณสมบัติ ซองที่ 2 เทคนิค และตัดสินกันที่ซองที่ 3 การเงิน ซึ่ง รฟม.รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ซึ่งเกณฑ์เดิมกำหนดคะแนนเทคนิคไว้สูง แต่ละหัวข้อต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 80 คะแนน เมื่อรวมคะแนนทั้งหมดจะต้องไม่ต่ำกว่า 85% มั่นใจได้ว่าเอกชนทำสำเร็จ ถึงไปดูราคาและผลประโยชน์ให้รัฐ ใครที่ให้มากที่สุดควรจะเป็นผู้ชนะไป หากใช้เกณฑ์ใหม่ รัฐอาจจะเสียเงินเยอะกว่าใช้เกณฑ์ราคา”

โครงการเป็นลงทุน PPP เอกชนที่รับสัมปทานต้องรับผิดชอบเป็น 30 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอของไม่ดี ไม่มีคุณภาพให้รัฐ เพราะการลงทุน PPP net cost เอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมด มีตัวชี้วัด (KPI) ด้านต่าง ๆ ประเมินอยู่ หากทำไม่ดีไม่ผ่าน ก็ถูกปรับ และหากให้บริการไม่ดี ปัญหาก็ตกกับผู้ลงทุนเอง

“ถามว่าเรากลัวอะไรกับเกณฑ์ใหม่ ไม่ได้กลัวอะไร กลัวความไม่เป็นธรรม โครงการนี้มูลค่ากว่าแสนล้านบาท เดิมพันสูง จึงมีความเป็นห่วงเพราะหลักเกณฑ์ใหม่ก็ไม่ชัดเจนว่ามีวิธีให้คะแนนอย่างไร เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้ การเปิดซอง 2 ซอง 3 พร้อมกันไม่ค่อยเห็นใครทำ ต้องเปิดซอง 2 ก่อน ผ่านเทคนิคแล้วเปิดราคา แต่แบบใหม่รู้เลยว่าใครเปิดราคาเท่าไหร่และให้คะแนนอย่างไรก็ได้ น่าเป็นห่วงด้านความยุติธรรม” นายสุรพงษ์กล่าวและว่า

การเข้าร่วมประมูลใหม่ รอดูเงื่อนไขทีโออาร์ก่อน ยังร่วมพันธมิตรเดิม บมจ.ซิโน-ไทยฯ

เป็นความเห็นต่างระหว่างรัฐ-เอกชนต่อเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม ยังไม่มีใครรู้ว่าอย่างไหนเหมาะหรือดีที่สุด และสุดท้ายรัฐจะเลือกเอกชนรายใดเข้าเส้นชัย