ชง ”คมนาคม” เคลียร์ปมชดเชย 3 พันล้าน ”สีเหลืองต่อขยาย” แย่งผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง

ถึงทางตันสายสีเหลืองต่อขยาย”รัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน”รฟม.สางปมแย่งผู้โดยสารสายสีน้ำเงินไม่ลงตัว BEMแบตัวเลขรายได้ 30 ปี หายเฉียด 3 พันล้าน ด้านBTSยืนกรานไม่ชดเชยให้ ไม่ให้สร้างก็ไม่เป็นไร บอร์ดไม่ฟันธง โยนคมนาคมแก้ปัญหา รฟม.ย้ำชัดเป็นทางแข่งขันกัน แถมลงทุนซ้ำซ้อน ลั่งไม่มีโครงการนี้โครงข่ายรถไฟฟ้เชื่อมต่อสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2564 ได้รายงานต่อคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม.ถึงผลการศึกษาผลกระทบกรณีก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าBSR(บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) ยื่นเสนอการลงทุนเพิ่มเติมในซองที่4 วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ต่อขยายสายสีเหลืองส่วนหลักช่วงลาดพร้าว-สำโรงที่ได้รับสัมปทานทาน 30 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสายสีน้ำเงินที่มีบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) เป็นผู้รับสัมปทาน

รายได้สายสีน้ำเงินวูบ 30 ปี 2.7 พันล้าน

โดยคาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินหายไป 4,800 เที่ยวคน/วัน ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีแรกที่สายสีเหลืองต่อขยายเปิดบริการ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงปีที่ 30 อยู่ที่ 17,500 เที่ยวคน/วัน คิดเป็นรายได้ที่หายไปตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี กว่า 2,700 ล้านบาท หากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 988 ล้านบาท

“ผลศึกษานี้ทางBEMจ้างที่ปรึกษาดำเนินการ ตามที่ตกลงกันไว้ แต่BTS ไม่ยอมรับผลการศึกษาดังกล่าว แต่บอร์ดไม่ได้ให้รฟม.ยุติการเจรจา แต่เมื่อผลการเจรจามาถึงทางตันก็ให้รฟม.ขอความเห็นกระทรวงคมนาคมมาประกอบการพิจารณาติดสินใจอีกครั้ง โดยเร็วที่สุด”

ไม่มีสีเหลืองต่อขยายโครงข่ายก็สมบูรณ์

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า โครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท ถือว่าเป็นโครงข่ายการเดินทางที่สมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว แม้จะไม่มีส่วนต่อขยายสายสีเหลือง โดยรปะชาชนที่ใช้บริการสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) หากไม่ต้องการนั่งสายสีน้ำเงิน จะมีรถเมล์วิ่งเส้นทางถนนรัชดาเป็นฟีดเดอร์ไปยังสายสีเขียวได้ นอกจากนี้การพิจารณาโครงข่ายจะต้องพิจารณาการลงทุนเส้นทางที่ไม่ทับซ้อนหรือสร้างขนานกัน และเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

หวั่นเกิดค่าโง่ซ้ำรอยทางด่วน

“เหมือนกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดที่มีคำพิพากษาว่าสร้างทับซ้อนกับโทลล์เวย์ ทำให้เอกชนขาดรายได้ เป็นกรณีตัวอย่างมาเทียบเคียงกับสายสีเหลืองได้ว่าโครงการที่อยู่ในแนวเส้นทางใกล้เคียงกันก็เป็นการไปแย่งผู้โดยสารกันเองได้ ซึ่งไม่อยากให้เกิดค่าโง่ซ้ำรอยอดีต เมื่อมีผลกระทบ มีค่าชดเชยเกิดขึ้น รฟม.ต้องมาชั่งน้ำหนักระหว่างไม่ต้องเสียเงินสร้างรถไฟฟ้ากับมีข้อพิพาทกับเอกชนคู่สัญญา“

นายภคพงศ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในเงื่อนไขซองที่4 รฟม.มีการสงวนสิทธิ์ที่จะรับหรือไม่รับพิจารณาข้อเสนอนี้ก็ได้ ซึ่งทางBEM ก็ไม่รู้ว่ารฟม.จะพิจารณาหรือไม่ ถ้าพิจารณาก็ต้องเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งตามเงื่อนไขจะเจรจาได้ถึงวันเปิดบริการสายสีเหลืองส่วนหลักในเดือนก.ค.2565

ยันไม่กระทบผลตอบแทนรายได้

ส่วนผลตอบแทนของโครงการที่รฟม.จะได้รับนั้น ยังเป็นไปตามสัญญาหลัก แม้ว่าจะไม่ได้สร้างสายสีเหลืองต่อขยายก็ตาม โดยเอกชนคู่สัญญาจะแบ่งรายได้ให้ 250 ล้านบาท แบ่งจ่ายในปีที่ 11-30

บีทีเอสลั่นไม่ให้สร้างก็ไม่เป็นไร

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) กล่าวว่า ตอนนี้มีหนังสือแจ้งไปรฟม.ยืนยันตามเดิมเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์และอยากจะให้เกิด ซึ่งบริษัทเสนอลงทุนให้รัฐ100%และแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐเพิ่ม

แต่การที่จะให้บริษัทไปค้ำประกันกรณีที่เกิดผลกระทบต่อBEM ที่เป็นคู่สัญญากับรฟม. โดยให้บริษัทชดเชยรายได้ให้คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากทั้งกลุ่มกิจการร่วมค้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

“รฟม.ต้องชั่งน้ำหนักดูจะตัดสินใจยังไง ต้องมองประโยชน์ของประชาชนด้วย ถ้าไม่ได้ทำเราไม่กระทบอยู่แล้ว แต่ต้องการให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนที่มาใช้บริการถไฟฟ้า แต่ถ้าทำแล้วต้องไปกระทบกับคนอื่นและต้องไปค้ำประกันเราก็คงทำให้ไม่ได้“นายสุรพงษ์กล่าวย้ำ