กทม.เร่งสร้างโรงกำจัดขยะ “อ่อนนุช-หนองแขม” ขายไฟ กฟน.

กทม.เร่งสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอย“อ่อนนุช-หนองแขม” รวมวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท

นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้สัมปทานโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 2 แห่ง คือ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เนื้อที่ 30 ไร่ และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เนื้อที่ 30 ไร่ รวมวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท

โดยมีการเซ็นสัญญาไปเมื่อ ธ.ค. 2562 ปัจจุบันได้เตรียมการพื้นที่ก่อสร้างไว้พร้อมแล้ว รวมถึงจัดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ และทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งประชาชนยอมรับโครงการ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

“ตอนนี้ต้องรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบประกาศการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 2 แห่งในรูปแบบการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งอย่างเป็นทางการก่อน หากตอบรับแล้ว ทาง กกพ.จึงจะออกใบอนุญาตให้บริษัท เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป คาดว่าน่าจะออกได้ครบภายในปี 2564 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างทันที ใช้เวลาก่อสร้าง 1,000 วัน หรือประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในปี 2567”

นายเหอ หนิง กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 โครงการ บริษัทลงทุนร่วมกับ กทม. ในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 23 ปี แยกเป็นก่อสร้าง 3 ปีและบริหารโครงการ 20 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จ จะช่วยลดการฝังกลบจาก 10,700 ตัน/วัน เหลือ 30% หลังเปลี่ยนเป็นการเผา โดยแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือทำปุ๋ย

“ปัจจุบันกทม.มีปริมาณขยะที่ต้องกำจัดวันละ 10,500 ตัน โดยนำขยะไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 7,000-8,000 ตัน ตั้งเป้าจะลดฝังกลบจาก 80% ให้เหลือ 30% ในปี 2567 ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในบริเวณใกล้เคียง พร้อมส่งเสริมการแปรรูปผลิตพลังงานโดยให้ภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจร่วมลงทุนตามแผน”

นายเหอ หนิง กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การศึกษาแนวทางการร่วมทุนโรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างรัฐวิสาหกิจของจีนและไทย ปัจจุบันนิวสกายมีรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน คือ SDIC POWER : State Development & Investment Corporation เข้ามาถือหุ้นใหญ่

โดยความร่วมมือครั้งนี้มีระยะร่วมมือกันอย่างน้อย 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2567 โดยก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกับ กฟน. ถึงความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทลูกร่วมลงทุน ซึ่งกว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ กฟน.จะต้องเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน ดังนั้น จากกระบวนการและระยะเวลาที่ยังต้องทำอีกมาก จึงลดลงมาเป็นการลงนาม MOU ศึกษาไว้ก่อน