“ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับ ฟาร์มเฮ้าส์” จัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ ยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยสู่สากลในยุคดิจิทัลด้วยยานยนต์ไฟฟ้า

ม.พระจอมเกล้า

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ จัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง การยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยสู่สากลในยุคดิจิทัลด้วยยานยนต์ไฟฟ้า

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในยุคดิจิทัลด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ให้แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมทั้งสถานศึกษาที่เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์และเทคโนโลยีโลจิสติกส์ ได้เกิดมุมมองในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการยกระดับการขนส่งสินค้าของประเทศไทยด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้เจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

โดย ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงที่มาของการจัดสัมมนาว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ขยายความร่วมมือ การพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบุคลากรของบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้านอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) รวมถึงมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ การบริหารจัดการ อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) มีการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของความร่วมมือขององค์กรทั้งสองฝ่าย เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนากำลังคนของประเทศตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของชาติ

ด้าน รศ.ดร.สมนึก วิสุทธิเเพทย์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานบริการวิชาการเเละอุตสาหกรรมสัมพันธ์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง มีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลก ทำให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ ได้มีการนำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้แทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปแบบเดิม ที่สร้างมลพิษทางอากาศ และมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิงในอนาคต

 

โดย คุณ อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมทั้งมีการส่งเสริมในการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มมูลค่าจากการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยการส่งเสริมการสร้างศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและเชื่อมต่อกับเครือข่ายโลจิสติกส์ของโลก การผลักดันการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะและส่งเสริมเทคโนโลยีและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางเสียง และฝุ่นละออง

 

จากนั้นเป็นการเสวนาวิชาการ เรื่อง การยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยสู่สากลในยุคดิจิทัลด้วยยานยนต์ไฟฟ้า โดย คุณกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โลจิสติกส์เป็นสิ่งคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนคือ ต้นทุนการขนส่ง (Transportation Cost) ต้นทุนคลังสินค้า(Warehousing Costs)  และ ต้นทุนการบริหาร(Administration Cost) ล่าสุดมีการจัดอันดับเรื่องของ Logistics Performance Index หรือ LPI เครื่องมือเปรียบเทียบเรื่องประสิทธิภาพในการให้บริการงานด้านโลจิสติกส์ โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 32 จาก160 ประเทศ เห็นได้ว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น

รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกมีการผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และสร้างฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง โดยส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้รถยนต์ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปยัง 170 ประเทศทั่วโลก

“ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหรือการทำธุรกิจต่างๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเสนอคณะรัฐมนตรี ตามมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) ขั้นตอนที่ 2 Board of Investment หรือ BOI ส่งเสริมการลงทุนในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ขั้นตอนที่ 3 นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และ ขั้นตอนที่ 4 กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 และล่าสุด มีความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นตลาดและสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV”รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)กล่าวถึงรถพลังงานสะอาด ว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่นละอองในอากาศจนมีค่าเกินมาตรฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้แก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้รถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รถโดยสารไฟฟ้า รถโดยสารไฮบริด ส่งเสริมการจัดหารถโดยสารสาธารณะใหม่ให้เป็นตามมาตรฐาน EURO 5 ที่ควบคุมการระบายฝุ่นละออง แต่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดมีข้อจำกัด จากการศึกษาจะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งการขนส่งคนและพัสดุภัณฑ์

ทั้งนี้ ดร.สัญลักข์ กล่าวเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของรถโดยสารไฟฟ้า ว่า 1. ต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำ รถโดยสารไฟฟ้ามีประสิทธิภาพพลังงานที่สูงทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงต่อกิโลเมตรต่ำ 2.ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ รถโดยสารไฟฟ้ามีชิ้นส่วนอุปกรณ์น้อยและมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล

3.ไม่เกิดปัญหามลภาวะอากาศ จึงสามารถกำหนดโซนมลภาวะต่ำ สำหรับเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหา PM 2.5 หรือมลพิษในอากาศ

4.ไม่เกิดปัญหามลภาวะทางเสียง โดยรถโดยสารไฟฟ้าสามารถลดระดับเสียงรบกวนลงกว่า 32% เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล

5.มีความมั่นคงทางพลังงานสูง รถโดยสารไฟฟ้าใช้พลังงานต่ำกว่ารถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล

อย่างไรก็ดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวถึงข้อเสียของรถโดยสารไฟฟ้าว่า

1.ลงทุนสูง

2.ระยะทางวิ่งต่อวันต่ำ เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีแบตเตอรี่

3.อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ต่ำ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการอัดประจุไฟฟ้า

4.การจำกัดแบตเตอรี่ เนื่องจากภายในแบตเตอรี่มีวัตถุที่เป็นอันตรายจึงต้องมีการกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

5.ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายไฟฟ้า หากมีการใช้รถโดยสารไฟฟ้ามากขึ้นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูง

“เมื่อเปรียบเทียบข้อดีกับข้อเสียแล้วพบว่า ยานยนต์ไฟฟ้ามีข้อดีมากกว่า ทั้งนี้ในอนาคตที่อยากจะทำคือในรถทั้งคันต้องมีระบบ IoT หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) การตรวจจับการขับขี่ ไวไฟ ต้องนำมาใช้ ผู้โดยสารจะได้ประโยชน์จากการได้นั่งรถใหม่ที่ดีมากขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางของผู้โดยสาร”กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.กล่าว

ในส่วน คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า ในแต่ละปีสมาชิกของ EVAT เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีทั้งหมด 360 ราย สมาชิกส่วนใหญ่เป็น corporate Member ในนามนิติบุคคล ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย หรือ XEv มีส่วนแบ่งการตลาด ปี 2019 อยูที่ 2.68% กระทั่งปี 2022 ขยับขึ้นมาประมาณ 9.58 % โดยประเทศไทยออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษีหลายอย่างเพื่อกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึงการจดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตและการอุดหนุนการเงินแบบมีเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้า โดยมียอดขายรถยนต์ Ev เพิ่มขึ้นหลังการประกาศใช้นโยบายภาษีใหม่

นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย  กล่าวต่อว่า 13 หมุดหมายภายใต้แผนพัฒนาฉบับที่ 13 ถูกกำหนดชัดเจนว่าไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่

1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2.สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค

3.วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

4.ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 เป้าหมายสร้างอุปสงค์การใช้ Ev ในประเทศเป็น 26% ภายในปี 2570 และสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการปรับตัวของผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ Ev อันดับ1ในอาเซียน

ในส่วนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฎิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันประเทศ โดยการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างคมนาคม และลดต้นทุน โดยผลการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย และมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการด้านอุปทาน

  1. การส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (รอบใหม่ ปี 2564) ครอบคลุมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร เรือ รถไฟฟ้าระบบราง และการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วน 17 ชิ้น

มาตรการด้านอุปสงค์ มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ให้ทุกส่วนราชการพิจารณาจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในราชการแทนรถยนต์นั่งเดิม ที่หมดอายุการใช้งาน หรือที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างใหม่เพื่อรองรับภารกิจใหม่ หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ และ มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า มอบหมายให้ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องมาตรการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐาน EV และ Charger รวมทั้งสิ้น 122 เรื่อง จากแผนทั้งหมด 138 เรื่อง

2.การพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เปิดให้บริการทดสอบสมรรถนะยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ เป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

  1. การพัฒนาศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่
  2. พัฒนาผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนา และซ่อมบำรุง
  3. เพิ่มจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในอาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว

นอกจากนี้ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรับผิดชอบเป็นในเรื่องของการกำหนด Free Zone และมีการกำหนดการลดอัตราอากรขาเข้า มีการกำหนดประเภทว่าสามารถที่จะลดภาษีและสามารถส่งออกได้ รวมถึง มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป เป็นเรื่องที่ทุกประเทศจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีในการข้ามแดน โดยมูลค่าสินค้าส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบรวมกว่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี