“โอทอป เทรดเดอร์” สื่อกลางความสำเร็จสินค้า OTOP กรณีศึกษา

“โอทอป เทรดเดอร์” สื่อกลางความสำเร็จสินค้า OTOP กรณีศึกษา

“โอทอป เทรดเดอร์” สื่อกลางความสำเร็จสินค้า OTOP กรณีศึกษาที่ OTOP OUTLET @อยุธยา

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตสินค้าโอทอป (OTOP) มีจำนวนกว่า 97,913 กลุ่ม/ราย และมีผลิตภัณฑ์จำนวน 221,302 ผลิตภัณฑ์เพื่อการต่อยอดพัฒนาคุณภาพสินค้า “กรมการพัฒนาชุมชน” จึงได้กำหนดมาตรการส่งเสริมยกระดับของมาตรฐานสินค้า และการเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าโอทอป โดยคุณวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัทธ์ เป็นประธานเครือข่าย OTOP Trader Thailand มีแนวคิดสร้าง โอทอป เทรดเดอร์ (OTOP TRADER) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการพัฒนาและจำหน่ายสินค้าโอทอปที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

คุณสมคิด พวงยี่โถ กรรมการ บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ภารกิจของโอทอป เทรดเดอร์ คือ การเป็นตัวกลางในการจำหน่ายสินค้าโอทอปที่มีคุณภาพมาตรฐานและศักยภาพทางการตลาด แต่ขาดโอกาสและช่องทางในการจำหน่าย ทางเราจึงมีหน้าที่ดำเนินการกระจายสินค้าจากผู้ประกอบการโอทอป ไปยังผู้ซื้อทั้งที่อยู่ภายในจังหวัด ระหว่างจังหวัด และต่างประเทศ

ทั้งนี้ โอทอปเทรดเดอร์ระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด จะทำงานร่วมกับ “โอทอปเทรดเดอร์ระดับประเทศ” ซึ่งมีบทบาทในการกระตุ้นช่องทางการจำหน่าย เชื่อมโยงการตลาดเดิม รุกตลาดใหม่ หรือประสานให้โอทอปเทรดเดอร์ระดับจังหวัดนำสินค้ามาฝากขายในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เช่น กิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาด (Road Show), การแสดงสินค้าในห้างสรรพสินค้า, การจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น Shopee Lazada รวมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในการส่งเสริมการขาย เป็นต้น

คุณสมคิด เผยว่า ทางบริษัทโอทอปอินเตอร์เทรดเดอร์ ยังมีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเจรจาทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยหนึ่งในความสำเร็จครั้งสำคัญคือ ภายในงานโอทอป ซิตี้ ปี 2563 ที่ถึงแม้ว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีกลุ่มโมเดิร์นเทรด ร้านค้า และกลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำให้ความสนใจเข้ามาร่วมเจรจากับผู้ขายภายในบูธของโอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ อย่างคึกคัก สร้างยอดการเจรจาธุรกิจทะลุเป้ากว่า 20 ล้านบาท

OTOP OUTLET @อยุธยา แหล่งรวมโอทอป ศูนย์กลางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชุมชนครบวงจร ณ พุทธอุทยานมหาราช หลวงปู่ทวด ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของ OTOP OUTLET @อยุธยา ศูนย์โอทอปเอาต์เลตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นโชว์รูมสินค้าหลายพันรายการ ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น สมุนไพร อาหาร เครื่องประดับ ตกแต่ง ผ้า เครื่องหนัง และเครื่องใช้ ซึ่งโอทอป เทรดเดอร์ในแต่ละจังหวัดจะประสานและคัดเลือกสินค้าส่งมายังที่แห่งนี้

ในบริเวณเดียวกันนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนโอทอป (OTOP Academy) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปให้เข้มแข็ง สามารถพัฒนาด้านการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด และการเข้าถึงแหล่งทุน

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์กลาง จ.พระนครศรีอยุธยา และ “ห้อง อย.กลาง” ซึ่งเป็นบันไดสำคัญของการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น

คุณสมคิด เผยว่า อุปสรรคสำคัญของการยกระดับสินค้าโอทอปให้ได้มาตรฐานคือ กระบวนการยื่นขอรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ซึ่งชาวบ้านและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดกำลังทุน และความรู้ในการเตรียมการทั้งในเรื่องสถานที่การผลิต

ห้องผลิตสินค้ามาตรฐานชุมชน หรือ “ห้อง อย.กลาง” จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย มีสถาบันการศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นที่ปรึกษาพี่เลี้ยงในการยกระดับมาตรฐานการผลิตแบบครบวงจร ช่วยให้ชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับโดยสามารถขอเลขมาตรฐาน อย. ได้ โดยชาวบ้านไม่ต้องลงทุนในเครื่องจักร เพียงนำวัตถุดิบและพกฝีมือภูมิปัญญามา โดยจ่ายค่าดำเนินการเพียง 300 บาทเท่านั้น

โดยหนึ่งในกรณีศึกษาที่สร้างความภูมิใจคือ การพัฒนาฝอยทองเป็นผลิตภัณฑ์ “ฝอยทองอบกรอบ” ส่งจำหน่ายที่ร้านกาแฟพันธุ์ไทย โดยบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กว่า 100,000 ชิ้น มูลค่าผลิตภัณฑ์เกือบ 1 ล้านบาท

เกิดการจ้างงาน การสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกต่อ“โอทอปนี่เป็นสินค้าที่มหัศจรรย์ตรงไหนรู้ไหม ตรงที่ชุมชนสามารถนำวัตถุดิบในท้องถิ่นกลั่นกรองออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสินค้าที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรม ความละเอียดละเมียดละไมจะต่างกัน ถ้าเทียบให้เห็นภาพคือขนมที่ผลิตจากเครื่องจักร กับขนมที่เราทำกินเองในครัวเรือนก็จะให้ความรู้สึกต่างกัน พูดตรงๆ ก็คือผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะจัดเต็มไม่มีการหวงของ สินค้าโอทอปนั้นมีจุดเด่นในตัวเองอยู่แล้ว มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถอยู่มาได้นานขนาดนี้ ส่วนตัวผมเองก็ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเอง ในทุกปีที่เราออกงานจำหน่ายในที่ต่างๆ ก็มีกลุ่มผู้ซื้อที่สนใจจำนวนมาก และมีความสนใจมาจากผู้ซื้อต่างชาติก็มีจำนวนมากเช่นกัน” นายสมคิด กล่าวทิ้งท้าย

OTOP กลุ่ม Quadrant D ต่อยอดได้ด้วยการเล่าเรื่อง (Storytelling)

ภายในงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 20 สิงหาคม 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีผู้ประกอบการโอทอปเข้าร่วมนําเสนอสินค้าและบริการมากกว่า 2,000 บูธ แต่วันนี้เราขอเสนอตัวอย่างผลิตภัณฑ์โอทอปของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เปี่ยมด้วยประวัติความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ (Story of Product) ที่น่าสนใจ

คุณละออง ศิริศักดากุล เจ้าของร้านเมี่ยงคำลูกแม่สะอาด ผลิตภัณฑ์โอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) เผยว่า ตนเองนั้นเริ่มจำหน่ายเมี่ยงคำมานานกว่า 10 ปีแล้ว อาหารนี้ดูเหมือนจะเป็นของว่างง่ายๆ แต่ความจริงแล้วมีรายละเอียดและความประณีตในการทำสูง ทั้งยังมีประโยชน์มีคุณค่าทางสมุนไพร ช่วยปรับสมดุลธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย

“เมี่ยงคำ เป็นอาหารว่างในบทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องว่าง ในรัชกาลที่ 6 โดยมีวัตถุดิบหลัก คือใบชะพลู, มะนาว, พริก, หอมแดง, ขิง, มะพร้าวคั่ว, ถั่วลิสงคั่ว และกุ้งแห้ง โบราณเขาว่าใน 1 คำมี 8 รส คือ เปรี้ยว, หวาน, มัน, เค็ม, เผ็ด, ขม, ซ่า และจืด การจะทำเมี่ยงให้ถูกปากนั้นต้องมีความตั้งใจ มีความละเมียดละไมที่จะทำ อย่าง “มะพร้าวคั่ว” ต้องซอยด้วยมือให้เสมอให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ วัตถุดิบอื่นๆ ก็ต้องหั่นให้มีขนาดเท่าๆ กัน อย่าง “มะนาว” ถ้าจะทานให้อร่อยเราต้องเอาเส้นใยสีขาวออกให้เหลือแต่เนื้อมะนาว แล้วก็ต้องไม่ให้มีน้ำแฉะ เพื่อไม่ให้ขม” คุณละออง เล่าถึงเคล็ดลับให้ฟัง

“สมัยก่อนนั้นการจำหน่ายเมี่ยงคำนั้นก็เป็นการใส่ถุงพลาสติกแบบง่ายๆ ปัจจุบันนี้ก็ได้มีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ดูสะอาดเป็นสัดส่วน มีการเพิ่มรูปแบบการนำเสนอ เป็น “เมี่ยงคำเสียบไม้” ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ทาน เข้ากับสังคมที่รีบเร่ง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี”

คุณละออง กล่าวทิ้งท้ายว่า  “สำหรับงานโอทอปศิลปาชีพฯ ปี’ 66 พี่มาร่วมเป็นปีแรก ได้รับผลตอบรับดีมาก เกินกว่าที่คิดไว้มาก มีการต่อยอดจากผู้ที่มาเดินในงานปากต่อปาก เขามาชิมแล้วมีการติดต่อ

ให้เราไปร่วมงานสตรีทฟู้ด (Street Food) ของห้างสรรพสินค้าห้างหนึ่ง เป็นความภูมิใจและประทับใจมากค่ะ”