อาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ‘คน’ สำคัญ ดันเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

อาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ‘คน’ สำคัญ ดันเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

ย้อนกลับไปเพียงไม่กี่ปีเกาหลีใต้เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ล้าหลังและยากจน ในขณะเดียวกัน เยอรมนีต้องเผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในฐานะประเทศพ่ายสงคราม จนเราไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าทั้งสองประเทศจะสามารถก้าวขึ้นมาสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจไปรอดได้อย่างไร ทว่าในระยะเวลาเพียงชั่วอายุคน ทั้งสองประเทศ กลับพลิกวิกฤติสู่ความรุ่งโรจน์ ได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งผลงานความสำเร็จของทั้งสองประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วยหรือปาฏิหาริย์ หากแต่เป็นการยกระดับเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ผ่านการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศอย่าง ‘ทรัพยากรมนุษย์’

ในช่วงเวลาดังกล่าวท่ามกลางกระแสที่โลกทั้งใบกำลังเปลี่ยนผ่าน สู่การพึ่งพาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มขั้น การมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือทางอุตสาหกรรมขั้นสูง ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้านเยอรมนีได้พัฒนายุทธศาสตร์การศึกษา ที่ไม่ได้เน้นเพียงสายสามัญหากแต่เป็นการผลักดันให้อาชีวศึกษา หรือสายอาชีพ กลายเป็นกระดูกสันหลังในการสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่านการตรากฎหมายให้อาชีวศึกษามีคุณภาพการเรียนการสอนก้าวหน้า-สร้างประสบการณ์ตรงแบบโรงเรียน-โรงงาน (Germany Dual Vocational Training) เป็นต้น

เช่นเดียวกันนี้รัฐบาลไทยต่างให้ความสำคัญ ในการพัฒนาระบบการศึกษาอาชีวศึกษาเสมอมา โดยเฉพาะการนำทัพของ พลตํารวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นให้การเรียนการสอนอาชีวศึกษามีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าการเรียนอาชีวะเป็นการเรียนพัฒนาทักษะวิชาชีพ ซึ่งจะรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศ ตั้งแต่อุตสาหกรรมภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมขนาดหนัก อุตสาหกรรมในโรงงาน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการโรงแรม อุตสาหกรรมในเชิงธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชยกรรม ซึ่งล้วนต้องอาศัยเด็กอาชีวะเข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญทั้งสิ้น

สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เบ้าหลอมฟันเฟืองของประเทศ

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภาพรวมตลาดแรงงานของไทย ต้องการเด็กที่จบจากอาชีวะเป็นจำนวนมาก ใน 1 ปี จะมีเด็กที่จบจากระบบการศึกษา ปวช. ปวส. ราว 4 แสนคน แต่ความต้องการของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ กลับต้องการคนสูงกว่าที่ผลิตได้ถึง 5-6 เท่าตัว

ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเราผลิตเด็กไม่พอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จึงได้เปลี่ยนแนวทางสู่ การผลิต ‘อาชีวศึกษาสมรรถนะสูง’ เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสูงสามารถนำความรู้ และทักษะมาใช้แก้ไขปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพื่อรองรับตลาดอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ซึ่งได้รับความร่วมมือผ่านการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน จากหลายภาคส่วน โดยใช้กลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันสังคมอื่น ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน พัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันผลการดำเนินการที่ผ่านมา มีสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอน อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จำนวน 541 แห่ง และสถานประกอบการที่เข้าร่วมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีมากถึง 12,673 แห่ง

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ยังได้รับมอบหมายนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ดังนี้

1) เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา สนับสนุนการเรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

2) การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ โดยผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ

3) การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย

4) การส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

“ท้ายที่สุดอยากให้ท่านผู้ปกครองได้เข้าใจถึงการเรียนอาชีวะ ว่าเป็นการฝึกทักษะอาชีพ ที่นอกจากเรียนแล้วก็สามารถมีวิชาชีพติดตัวและทำงานได้เร็วขึ้น และทางรัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนการเรียนอาชีวะอย่างเต็มที่

ที่สำคัญตลาดแรงงานเปิดกว้างมาก ทำให้บุตรหลานของท่านสามารถไปสู่โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะการเรียนทุกสาขา เน้นให้เด็กมีทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และที่สำคัญมีทักษะวิชาชีวิต ดังนั้น สายอาชีพจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ” นายยศพล ทิ้งท้าย