“SCG” จับมือกับ “สภาวิศวกร” ลง MOU ดันมาตรฐานวิศวกรไทยสู่ระดับสากล

ศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรด้านวิศวกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพื่อเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะ ตลอดจนขีดความสามารถของวิศวกรไทย สภาวิศวกร และบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในเครือ SCG จึงได้เกิดความร่วมมือบันทึกข้อตกลง เพื่อยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทยไปสู่ระดับสากล

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นที่จะยกระดับขีดความสามารถ ความรู้ของวิศวกรไทยให้ไปในระดับสากล พร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยสภาวิศวกรจะเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษาผู้ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรม กับภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดจุดกึ่งกลางและสามารถมีบุคลากรที่รองรับต่อความต้องการของตลาดวิชาชีพได้ อีกทั้งจะสนับสนุนและกระตุ้นด้านวิชาการ การวิจัยต่าง ๆ โดยจะเริ่มต้นจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นที่แรก แล้วต่อเนื่องไปยังสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยคาดหวังว่าในอีก 3 ปี จะสามารถยกระดับวิชาชีพวิศวกรไทยให้อยู่ในระดับที่ใหญ่ขึ้น เกิดการตอบรับของภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีบุคลากรด้านวิศวกรรมที่สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ได้”

ด้าน นายชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution ในเอสซีจี และ นายชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director – CPAC เผยว่า การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดนโยบายของเอสซีจี ที่มีความต้องการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมให้มีความรู้ความสามารถ พร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจ CPAC Construction Solution ในอนาคต ภายใต้นโยบาย “Solutions for Life” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้กับลูกค้า ซึ่งจะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของแพลตฟอร์ม การเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบให้มีความสมจริงมากขึ้น รวมไปถึงการนำรูปแบบเทคโนโลยี UI และ UX เข้ามาปรับใช้ในวิชาชีพ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการผลิตที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ทางสภาวิศวกรยังสนับสนุนให้เอสซีจี เป็นองค์กรแม่ข่าย ในการยกระดับกำลังคนด้านวิศวกรรม โดยจะเน้นไปยังกลุ่มวิศวกรขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถต่อยอดวิชาชีพวิศวกรไทยไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียนได้ โดยจะใช้ CPAC Solution Center ทั่วประเทศให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการเพิ่มทักษะด้านวิชาชีพ ทั้งนี้เน้นย้ำว่าในอนาคตกลุ่มวิศวกรที่อยู่ในระดับภาคีวิศวกร ซึ่งเป็นจำนวนส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องก้าวไปอยู่ในระดับสามัญวิศวกร หรือระดับวุฒิวิศวกรที่สูงกว่าให้ได้ และรวมไปถึงกลุ่มอาชีวะที่จะต้องใช้โอกาสนี้ในการขอใบประกอบวิชาชีพระดับภาคีวิศวกรแบบพิเศษในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นใบเบิกทางการในก้าวสู่วิชาชีพวิศวกรต่อไป