‘กยท.’ แก้วิกฤตราคาน้ำยาง ชวนเกษตรกรแปรรูป-ทำสวนยางยั่งยืน ลดเสี่ยง รับมือความผันผวน

ผู้ว่า กยท. ชูมาตรการหาทางออก เร่งการผลิตยางตามความต้องการของตลาด รับมือความผันผวน หลังราคาน้ำยางร่วงแรง พัวพันหลายสถานการณ์โลกตึงเครียด ด้านนายกสมาคมน้ำยางข้นไทยไม่ตระหนก ชี้ราคาเตรียมกลับสู่สมดุล  ขณะที่อุปนายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางฯ มองปัจจัยแฝง เกิดสินค้าทดแทนแย่งความต้องการใช้น้ำยาง

วันที่ 30 มิถุนายน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ราคาน้ำยางที่เกิดขึ้นว่า จากสภาวะราคาน้ำยางสดที่มีการแกว่งตัวค่อนข้างสูงในช่วงปลาย พ.ค. – ต้น มิ.ย. ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความกังวลใจ  เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกค่อนข้างชุก ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย ขณะเดียวกันเป็นช่วงผู้ประกอบการหลายรายต้องมีการส่งมอบสินค้าตามสัญญา จึงทำให้ความต้องการใช้ยางในขณะนั้นค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาน้ำยางขยับตามกลไกตลาด

ในช่วงเวลานี้ถือว่าราคากลับมาปกติตามภาวะของตลาด แต่อย่างไรก็ตาม กยท. มีมาตรการเพื่อรับมือในเรื่องราคาที่ผันผวน ได้แก่ โครงการชะลอขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้เงินอุดหนุนกับสถาบันเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางกับเกษตรกรรายย่อยหรือสมาชิกของสถาบัน เพื่อนำมาเก็บไว้และรอขายในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ(ยางแห้ง)วงเงิน 20,000 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3
ต่อปี เพื่อช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต และ กยท. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ลดภาวะการแกว่งตัวของราคาในตลาด ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถลดซัพพลายส์ออกจากตลาดได้

“กยท. พร้อมให้การสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางในการบริหารจัดการผลผลิตของตนเอง ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดในแต่ละห้วงเวลาตามความเหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชร่วมยาง เลี้ยงสัตว์ ลดการพึ่งพิงพืชเชิงเดี่ยว หรือผลผลิตเพียงอย่างเดียว
ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความมั่นคงทางรายได้มากขึ้น”

ด้าน นายพงษ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย เสริมว่า อีกสาเหตุที่ส่งผลต่อราคาน้ำยางเป็นเพราะหลายประเทศทั่วโลกปลดล็อกจากโรคโควิด-19 แล้ว ดังนั้นความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยาง เช่น ถุงมือยาง และหน้ากากอนามัย จึงลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจมองเป็นข้อดีได้เช่นกัน เพราะจะทำให้ราคาของน้ำยางปรับคืนสู่สมดุล ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน

“เกษตรกรหลายคนกังวลว่า ราคาน้ำยางเคยขึ้นสูงมาก ทำไมถึงลงมาเยอะ แต่อย่าลืมว่าราคาของผลิตภัณฑ์ยางตัวอื่น ๆ เช่น ขี้ยาง คงอยู่ที่ช่วง 40 ปลาย ๆ ถึง 50 ต้นๆ มานาน สาเหตุที่ไม่ขึ้นไปมากกว่านั้น เพราะมันสามารถเก็บสต็อกไว้ได้นาน ไม่เหมือนกับน้ำยาง ราคาจึงเคลื่อนไหวไม่เยอะ ถ้าความต้องการสูง ราคาขายย่อมสูง ต้องแย่งกันซื้อแย่งกันผลิต กลับกันถ้าความต้องการชะลอตัว ราคาก็จะตก ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของตลาดทุกประการ”

นายกสมาคมน้ำยางข้นไทยยืนยันว่า ทางสมาคมซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตน้ำยางข้นทั้งประเทศ ไม่มีใครอยากเห็นราคาน้ำยางตกต่ำ จนเกษตรกรได้รับผลกระทบ และจะพยายามเต็มที่ เพื่อผลักดันราคาให้อยู่ในกรอบสมดุล เหมาะสมต่อความต้องการของทุกฝ่าย

ขณะที่ นายอดิศักดิ์ กองวารี อุปนายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย อธิบายถึงสถานการณ์ราคาน้ำยางตกว่า แม้ตามหลักแล้วเมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ราคาน้ำยางจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในสถานการณ์จริงจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านกว่านั้นว่า มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ เข้ามาทดแทนหรือช่วงชิงส่วนแบ่งทางตลาดด้วยหรือไม่

“ตอนนี้ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมรถยนต์ ถุงมือยาง หรือการผลิตเส้นด้ายยางยืด ทำหน้ากากอนามัย ล้วนมีปริมาณความต้องการลดลง พอเป็นเช่นนี้ ต้องมองภาพรวมด้วยว่า ยางธรรมชาติมีคู่แข่งไหม หรือมีสินค้าทดแทนเข้ามา เช่น ยางสังเคราะห์ และพลาสติกเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในท้องตลาด หากไม่พิจารณาปัจจัยเหล่านี้ อาจเป็นการมองข้ามตัวแปรสำคัญไป”

นายอดิศักดิ์เสริมว่า วิธีการช่วยให้ราคาน้ำยางเพิ่มสูงขึ้น ยังอยู่ที่การสนับสนุนของภาครัฐ ว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าน้ำยางให้สูงขึ้นอย่างไร หากสนับสนุนการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าอย่างแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับต่างชาติในระยะยาวได้อย่างแข็งแกร่ง