จมูกไม่ได้กลิ่น ความผิดปกติที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ 
ผศ.นพ.วิชิต ชีวเรืองโรจน์

จมูกไม่ได้กลิ่นส่งผลต่อการใช้ชีวิตในด้านของสุนทรียภาพ ผู้ป่วยที่ประสบปัญหานี้จะขาดความสุขในการรับกลิ่น การสัมผัสกับรสชาติอาหาร ทั้งยังขาดการรับรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น กลิ่นแก๊สรั่ว กลิ่นไฟไหม้ เป็นต้น จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่ควรรู้ เพราะปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากปฏิบัติตนให้อยู่ในความเสี่ยง ที่ส่งผลต่อประสาทสัมผัสในการรับกลิ่น

สาเหตุของปัญหาจมูกไม่ได้กลิ่น

1.การอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก โพรงไซนัส ทำให้กลิ่นขึ้นไม่ถึงปลายประสาทรับกลิ่น

2.เนื้องอกอุดกั้น ทำให้กลิ่นขึ้นไม่ถึงปลายประสาทรับกลิ่น

3.อุบัติเหตุที่ศีรษะที่ทำให้ปลายประสาทอักเสบ บาดเจ็บ หรือฉีกขาด ส่งผลต่อการได้กลิ่นที่ลดลง หรืออาจไม่ได้กลิ่นเลย บริเวณที่ส่งผลต่อการรับกลิ่นในกรณีอุบัติเหตุที่ศีรษะคือ หน้าผาก ท้ายทอย

4.การได้รับสารเคมีบางอย่างที่ทำลายการรับกลิ่น เช่น การได้รับกลิ่นฟอร์มาลีนเป็นเวลานาน อาจทำให้ปลายประสาทอักเสบและตายลงบางส่วน ส่งผลให้การรับกลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่นเลย

5.ผิดปกติทางพันธุกรรม อาจไม่มีปลายประสาทรับกลิ่นหรือมีความผิดปกติที่ปลายประสาทรับกลิ่น

6.อายุที่เพิ่มขึ้นและโรคทางสมองบางชนิดอาการ อาการที่พบมี 2 แบบ ได้แก่ แบบเฉียบพลัน มักเกิดจากอุบัติเหตุ บางรายเกิดทันทีหลังผ่าตัด และแบบเรื้อรัง มักเกิดจากการอักเสบที่เยื่อบุโพรงจมูก เนื้องอก การได้รับสารเคมี อายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อาการค่อย ๆ ดำเนินไป

วิธีการรักษา

– อาการที่สามารถรักษาได้ คือ เกิดจากการอักเสบ หวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น รวมถึงภาวะอุดกั้นที่สามารถเอาออกได้ เช่น เนื้องอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย หากอุดกั้นเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ปลายประสาทไม่ทำงานเป็นเวลานานไปด้วย และอาจฟื้นตัวช้าหรือไม่สมบูรณ์

– ไม่สามารถรักษาได้ คือ อุบัติเหตุที่ทำให้เส้นประสาทฉีกขาดไป

การป้องกันอาการจมูกไม่ได้กลิ่น

1.ระวังอย่าให้เยื่อโพรงจมูกบวม หากเป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบให้รีบรักษา

2.รักษาสุขภาพสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

3.หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่ศีรษะ

หมายเหตุ : ผศ.นพ.วิชิต ชีวเรืองโรจน์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล