คิดแบบ “โซเด็กซ์โซ่” บริหารองค์กรเหมือนครอบครัว

เกศรินภรณ์ กาญจนปัญจพล
เกศรินภรณ์ กาญจนปัญจพล

หนึ่งในความท้าทายของงานบริหารทรัพยากรบุคคล หรือเอชอาร์ คือการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความกังวล และความคาดหวังของพนักงานที่มองหาความสมดุลในชีวิตมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความคาดหวังของพนักงาน

ซึ่งเหมือนกับ “เกศริณภรณ์ กาญจนปัญจพล” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท โซเด็กซ์โซ่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญกับการดูแลพนักงานโซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทยกว่า 4,000 ชีวิต ที่มองว่าการทำงานเอชอาร์ยุคนี้ไม่เหมือนอดีตเลย อย่างแรกอาจเป็นเรื่องเทคโนโลยี ที่เมื่อก่อน หากเดินเข้ามาในห้องทำงานเอชอาร์ จะเห็นกระดาษ เอกสารเยอะมาก

แต่เดี๋ยวนี้เรามีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งในการเก็บข้อมูล และเป็นตัวช่วยการสื่อสาร ที่สำคัญ การทำงานเอชอาร์เป็นการทำงานร่วมกับคน ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละคน ไม่เหมือนกัน และความคาดหวังก็ไม่เหมือนกันด้วย เราต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายในยุคปัจจุบัน

“โซเด็กซ์โซ่เป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ดำเนินธุรกิจการให้บริการ และสนับสนุนธุรกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่บริการต้อนรับ, บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์, บริการทำความสะอาด, บริการอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย มีสำนักงานใน 45 ประเทศทั่วโลก พนักงาน 500,000 คน รวมถึงประเทศไทยที่มีพนักงานกว่า 4,000 คน กระจายอยู่ 70 สาขา และสาขาย่อยอีก 200 สาขา

ดิฉันเข้ามาร่วมงานกับโซเด็กซ์โซ่ประมาณเกือบ 2 ปี โดยมีทีมเอชอาร์ด้วยกันทั้งหมด 28 คน นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีผ่านมา แม้จะทำงานด้านเอชอาร์มาตลอด แต่ไม่เคยดูแลพนักงานจำนวนมากขนาดนี้ ที่ผ่านมาดิฉันเป็นเอชอาร์ในธุรกิจโรงแรม และโรงพยาบาล ซึ่งการทำงานด้านเอชอาร์ต้องบอกว่าถึงแม้แต่ละบริษัทจะมีธุรกิจแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการดูแลคนในองค์กร”

“ไม่ว่าจะทำงานในธุรกิจไหนก็ตาม แต่พื้นฐานคือการสื่อสารกับผู้คน และดูแลผู้คน ผ่านมาดิฉันอาจทำงานโฟกัสแค่ธุรกิจเดียว แต่เมื่อมาร่วมงานกับโซเด็กซ์โซ่ จึงมีความท้าทายมากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจด้านการบริการที่มีลูกค้ามาจากธุรกิจหรือองค์กรอื่น ๆ ทั้งองค์กรใหญ่ในไทย โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน Offshore ที่ทำงานกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน”

“เกศริณภรณ์” กล่าวต่อว่า มาตรฐานดูแลพนักงานโซเด็กซ์โซ่ทั่วโลก เราไม่ได้ให้ความสำคัญแค่พนักงาน แต่เรายังให้ความสำคัญกับครอบครัวพนักงานด้วย หมายความว่าเมื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วย เราให้หยุด 5 วันต่อปี พนักงานสามารถใช้สิทธินี้ได้ทั่วโลก เพียงแค่มีเอกสารใบรับรองแพทย์ก็หยุดไปดูแลครอบครัวได้

ทั้งยังมีกรณีพนักงานหญิงที่เป็นคุณแม่ลาคลอด ถ้าตามกฎหมายคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน โดยคุณแม่จะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และได้รับจากประกันสังคมอีกจำนวนหนึ่ง แต่เราให้เงินเดือนทั้ง 98 วันในอัตรา 100%

เพราะอยากให้คุณแม่ทุกคนมีความสุขกับการดูแลลูก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ต่อให้อยู่บ้านก็ได้รับเงินเดือน สวัสดิการก็ได้เหมือนกับมาทำงานทุกวัน ผู้บริหารของเราอยากส่งเสริมการเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศ เพราะตอนนี้จำนวนอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง และยังมีสวัสดิการตัวใหม่คือถ้าเป็นพนักงานชาย และภรรยาคลอดบุตรสามารถลาไปดูแลได้ 14 วัน แถมได้เงินเดือนเต็มเหมือนกัน

นอกจากเรื่องครอบครัว เรายังส่งเสริมเรื่องความหลากหลายในองค์กร ด้วยการเพิ่มสัดส่วนระหว่างพนักงานชาย กับพนักงานหญิง ในอัตรา 50 : 50 คือพนักงานที่เป็นช่าง หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ผู้ชาย แต่ยังรับผู้หญิงด้วย เราไม่ได้แบ่งแยกเพศว่างานสายนี้ต้องเพศไหน

เพราะโซเด็กซ์โซ่ให้ความสำคัญกับ “คนดี” เพราะธุรกิจเราคือการบริการ ดิฉันเชื่อว่าการที่มีพื้นฐานจิตใจที่ดีนั้นเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของเรา เพราะความสามารถเติมเต็มได้ เรามีคอร์สเทรนนิ่งเยอะมาก อันดับแรกคือเวลาสัมภาษณ์ เราไม่สามารถรู้ทักษะเขาหรอก แต่สิ่งที่อยากได้ยินจากเขาคือทัศนคติที่ดี ถ้าตรงกับความคาดหวังองค์กร เราก็รับ

ตรงนี้อาจเป็นเหตุผลที่โซเด็กซ์โซ่มีอัตราการลาออกของพนักงานน้อย แต่ละปีมีไม่ถึง 3% ทำให้ปี 2567 โซเด็กซ์โซ่ กรุ๊ป ติดอันดับที่ 3 ของบริษัทที่น่าชื่นชมมากที่สุดในโลก จากนิตยสารฟอร์จูน Fortune Most Admired Companies 2024 ที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรม การบริหารบุคลากร และความรับผิดชอบต่อสังคม

“เกศริณภรณ์” กล่าวอีกว่า เป็นรางวัลที่เราภาคภูมิใจมาก เพราะสินค้าเดียวขององค์กรเราคือ “คน” ฉะนั้น เราต้องดูแลคนให้ดี ถ้าให้เปรียบเทียบความแตกต่างการทำงานในปัจจุบัน คนยุคก่อนจะทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ประชุมก็ต้องมานั่งเห็นหน้ากัน แต่สมัยนี้ทุกคนต้องการ Work Life Balance

สำหรับพนักงานในส่วนของออฟฟิศ เรามีนโยบาย Work From Anywhere 2 วันต่อสัปดาห์ แต่มีข้อแม้ว่าไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนก็ตาม หากเกิดเรื่องเร่งด่วน ต้องสามารถกลับเข้าออฟฟิศได้ภายใน 2 ชม. การที่ Work From Anywhere ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรเลย บางคนแค่อยากผ่อนคลาย นั่งทำงานที่คาเฟ่ แต่ขออย่างเดียวถ้ามีประชุม เสียงรอบข้างต้องซัพพอร์ตการสื่อสารให้รู้เรื่อง

“เอชอาร์ไม่ได้ดูแค่เรื่องการบริหารคน แต่เป็นการทำงานเพื่อให้องค์กรเติบโตไปพร้อมกัน ดิฉันมักจะบอกกับน้อง ๆ ในทีม 28 คนเสมอว่า การทำงานต้องคิดนอกกรอบ หมายถึงทุก ๆ งาน อาจจะไม่ใช่ 1+1= 2 เสมอไป ดิฉันในฐานะทำงาน HR ต้องคุยกับทีมงานเสมอว่า เราไม่ได้ทำงานกับตัวเลขนะ แต่เราทำงานกับคน ดังนั้นการทำงานกับคน ต้องทำให้มากกว่าผลลัพธ์ของตัวเลขทุกครั้ง”

“เกศริณภรณ์” กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้บริหารหญิง เราต้องมั่นใจว่าเราทำได้ ก่อนอื่นเราต้องให้กำลังใจตนเองให้เป็น เพราะไม่มีใครมาให้กำลังใจเราได้ตลอดไป ความเป็นผู้หญิงเราอ่อนหวาน อ่อนโยนได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องอ่อนแอ อะไรที่คนอื่นทำได้ เราทำได้แน่ ๆ เพียงแต่เรายังไม่ได้ลองทำ ลองทำแล้วอาจจะไม่ได้ดั่งใจ ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครทำอะไรแล้วสำเร็จเลย ต้องทำต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ

“เพราะถ้าเราหยุด โอกาสสำเร็จจะไม่เกิดขึ้น และไม่มีอะไรในการทำงานที่จะราบรื่นทั้งหมด แต่เราเลือกจะมองอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร วันนี้ถ้าเรามองทุกอย่างรอบตัวเป็นปัญหา ก็ไม่สามารถทำเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้ เราจึงต้องรับมือ และรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

ซึ่งเหมือนกับโครงการล่าสุดในการฝึกอบรมสร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลาง ด้วยการเข้าไปฝึกสอนการทำอาหารพื้นฐานด้วยเมนูง่าย ๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพหลังได้รับอิสรภาพ ตามโครงการ “She Works” หนึ่งในโครงการหลักของบริษัทที่โซเด็กซ์โซ่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

เพราะเชื่อว่าคนเราผิดพลาดกันได้ เราต้องให้โอกาสเขาเพื่อที่เขาจะไม่ทำผิดพลาดอีกครั้ง รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่จะตามมาอย่างสนับสนุนโรงเรียนที่มีความขาดแคลน และเรื่องโภชนาการอาหาร เป็นต้น