มรรค 8 สร้างผู้นำที่ใช่ หลอมองค์กรหนึ่งเดียวแก้ดิสรัปต์

ปัจจุบัน เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (Disruption) โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ทุกอย่างง่าย สะดวกสบาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน หลายธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้เหมือนเดิม นอกจากนั้น ยังมีความท้าทายเรื่องช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) อันเป็นความแตกต่างด้านความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และการเติบโตที่ต่างกัน จนสร้างความท้าทายต่อทุกองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ผู้นำธุรกิจ หรือองค์กรจึงต้องปรับตัว และเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมกับเข้าใจปัญหา และสามารถทำให้คนทั้ง 2 กลุ่มอยู่ร่วมกันได้ ในเป้าหมายองค์กรเดียวกัน

“ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโพชฌงค์ ที่ปรึกษาด้านบริหาร และยุทธศาสตร์ให้กับองค์กรชั้นนำระดับแถวหน้า ทั้งยังเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่สร้างอิมแพ็กต์ให้กับคนมากมาย กล่าวว่า The Right Leader (ผู้นำที่ใช่) จะนำพาองค์กรธุรกิจให้รอดพ้นจาก Disruption และทำให้องค์กรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่มีปัญหาเรื่อง Generation Gap

ผู้นำควรผนวก “การบริหาร” กับ “ธรรมะ” เพราะจะทำให้องค์กรเกิดการพัฒนา จนสามารถก้าวผ่านทุกการเปลี่ยนแปลง พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทาง “มรรคมีองค์ 8” พัฒนาสภาวะผู้นำ ซึ่งมรรคแปลว่า วิถี หรือ The Way มี 8 อย่างผสมเป็นเส้นเดียวกัน จนช่วยทำให้รับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาได้

“ด้วยการหายใจลึก ๆ ปรับไมนด์เซต และต้องเชื่อว่าจะผ่านไปได้ การเชื่อคือทิฏฐิ คนเราเกิดมาไม่ได้เพื่อสะสมเงินทองเป็นเรื่องสำคัญหรอก แต่เกิดมาเพื่อสะสมอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน สะสมคุณค่าให้กับตัวเอง การค้นพบตัวเอง (Self-actualization) อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเงินทอง”

ดังนั้น การสร้างรากฐานให้ “ผู้นำ” ไม่ตกยุคในโลกธุรกิจยุคใหม่ จึงต้องดำเนินบนวิถีมรรคมีองค์ 8 ดังนี้

หนึ่ง The Right Mindset (กรอบความคิดที่ใช่) เหมือนการเริ่มติดกระดุมเม็ดแรก ทำให้สามารถประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ดังนั้น หากมองหาเพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องที่มาร่วมทีม สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องเคลียร์ไมนด์เซตให้ตรงกันก่อน เช่น มีกรอบความคิดที่แบบพัฒนา (Growth Mindset) ที่ตรงกัน

สอง The Right Purpose (เป้าหมายที่ใช่) เป้าหมายที่ใช่คือเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง (Higher Purpose) ขณะเดียวกัน ต้องเป็นเป้าหมายเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม และเพื่อมวลมนุษยชาติด้วย เป้าหมายที่ใช่ต้องไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และไม่ควรเป็นองค์กรที่เห็นแก่ตัว หรือเป็นองค์กรที่เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่พังทลาย

สาม The Right Communication (การสื่อสารที่ใช่) แบ่งเป็นการสื่อสารกับตัวเอง และการสื่อสารกับผู้อื่น การสื่อสารแบบใช้คำพูด และไม่ใช้คำพูด ทุกการสื่อสารจำเป็นต้องสื่อสารเป้าหมาย ต้องเน้นย้ำบ่อย ๆ และถี่ ๆ ตามหลักของ Neuro Linguistic Programming : NLP การใช้ภาษา และการสื่อสารที่ถูกต้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิด และความจำ เพื่อสร้างกระบวนการคิดใหม่ ผู้บริหารระดับสูงต้องสื่อสารเป้าหมายอย่างชัดเจน และเข้าใจถ่องแท้ ถึงจะขยายไปสู่พนักงานระดับล่างได้ คำพูดที่สื่อสารกับตัวเองบ่อย ๆ นั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะ 3 คำนี้ คือ “โชคดี-ขอบคุณ-เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”

สี่ The Right Action (การกระทำที่ใช่) ไลฟ์สไตล์ของผู้นำส่งผลต่อการนำคนอย่างมาก ทุกกิจกรรมที่ทำล้วนเป็นการสื่อสารเป้าหมาย และกรอบความคิด เป็นผู้นำที่ใช่ด้วยการกระทำที่ใช่ ตามหลักมงคล 38 ประการ ดังนั้น การจะทำสิ่งใดก็ตามควรคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสังคมและมนุษยชาติ โดยมี 3 เป้าหมาย คือ คน สังคม และโลก (People-Social-Planet : PSP)

ห้า The Right Livelihood (การเลี้ยงชีพที่ใช่) คือการบวชอยู่กับงาน สามารถประกอบอาชีพแล้วปฏิบัติธรรมไปด้วยกันได้ ทำงานไปด้วย และฝึกสติไปด้วย ทุกอาชีพควรเคารพซึ่งกันและกัน อย่าเห็นแก่ตัว รวยแล้วต้องแบ่งปันกัน ถึงจะพอเพียง ดังนั้น การดำเนินธุรกิจทุกองค์กร ผู้นำที่ใช่จะคำนึงถึง Profit-People-Sustainable ฉะนั้น เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทุก ๆ ด้าน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพ

หก The Right Deliberate Practice (ความเพียรที่ใช่) ขยันในสิ่งที่ควรขยัน ขยันเพื่อมวลมนุษยชาติ ขยันสร้างกุศล ขยันเอากิเลสออกจากตัวเองเรื่อย ๆ ชนชาติใดที่มีความขยันชนชาตินั้นจะประสบความสำเร็จ ดีที่สุดคือสำเร็จทางธรรมสามารถทำคู่ขนานกับความสำเร็จทางโลกได้ คนที่มีความขยันจะต้องมีความอดทนผสมอยู่ด้วย อย่าท้อ และอย่าเร่ง เปรียบเสมือนปลูกต้นไม้ใหญ่ ต้องใจเย็น ๆ และหมั่นรดน้ำทุกวัน ต้องขยันทำไปเรื่อย ๆ คนที่จะเป็นผู้ประกอบการต้องขยัน ล้มได้แล้วลุกขึ้นมา แต่อย่าล้มเลิก

เจ็ด The Right Mindfulness (การระลึกรู้ที่ใช่) สติเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้บริหารหลายประเทศทั่วโลกไปอบรมกันเรื่องสติ ประเทศไทยเราเป็นต้นฉบับ ดังนั้น เราควรจะต้องฝึก สติเปรียบเสมือนเช็กลิสต์ของเช็ก 3 ตัวนี้ คือ เช็กกาย ใจ และความคิด เช็กกายว่าพร้อมหรือไม่ เช็กใจว่าสงบหรือไม่ และเช็กความคิดว่าตอนนี้มีความคิดเห็นแก่ตัว หรือเอาเปรียบคนอื่นหรือไม่ หรือว่าเป็นคนคิดลบ เพราะเมื่อสติมาปัญญาเกิด ถ้าฝึกสติเป็นประจำ จะเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (Seeing the Unseen)

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับหลักการบริหาร เช่น Plan วางแผน, Do ลงมือทำ, Check ตรวจสอบแก้ไข และ Action ทำให้เยอะ บริหารสติให้มาก สติเป็นทรัพย์ที่ควรแก่การสะสมที่สุด ทั้งนี้ ผู้นำที่ใช่สามารถที่จะสะสมสติและสะสมความดีควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมด้วย ทำทุกอย่างเพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้

แปด The Right Concentration (ใจตั้งมั่นที่ใช่) นักบริหารแพ้ หรือชนะมักจะวัดกันด้วยเรื่องการตัดสินใจที่ผิดพลาด และสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดคือใจที่ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ใจที่สงบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในที่ประชุม ออกไปเจอลูกค้า สติจะคอยเตือนว่าจิตนิ่งหรือไม่ ถ้าจิตนิ่ง เมื่อสติมา ปัญญาก็จะเกิดได้ เพราะตอนที่จิตเราว่าง ๆ ทำให้การตัดสินใจของเราเป็น The Right Decision Making

“ถ้าฝึกเยอะ ๆ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) จะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก และจะนำไปสู่ความฉลาดด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ดังนั้น มรรคตัวที่ 8 จึงเป็นผลมาจากการที่เราฝึกมรรคตัวที่ 1 ไล่มาจนถึงมรรคตัวสุดท้าย เพราะมรรคตัวที่ 8เป็นผลลัพธ์ที่บ่งบอกทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อเราฝึกได้สำเร็จ มรรคมีองค์ 8 หมุนรอบที่ 1 สำเร็จ ก็จะนำไปสู่มรรคมีองค์ 8 รอบที่ 2 และ 3 แต่ต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง ทำให้จิตสงบนิ่งอย่างต่อเนื่อง ปัญญาก็จะเกิดในที่สุด”

“ดร.วรภัทร์” กล่าวด้วยว่า การบริหารองค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างสมดุล ผู้นำที่นำมรรคมีองค์ 8 มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับองค์กร เน้นการพัฒนาจิตใจดวงเดิมไปสู่ดวงใหม่ที่เป็นอิสระและปลอดโปร่ง ส่งผลให้เกิดปัญญา ส่งต่อสู่กรอบความคิดที่ใช่ และการมีเป้าหมายที่ใช่ และแสดงออกสู่การปฏิบัติต่อโลกภายนอก จนส่งผลให้องค์กรเกิดความสมดุลทั้งผลประกอบการ และการอยู่ดีมีสุขของทุกคนในองค์กร

เนื่องจากผลการดำเนินธุรกิจ และขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ผู้นำที่ใช่ จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และขยายสู่การทำประโยชน์ต่อโลกในที่สุด