เปิดผลสำรวจ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต

สอวช.เปิดผลสำรวจ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต ทิศทางเป็นอย่างไร เตรียมพร้อมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรรองรับความต้องการของประเทศ 

วันที่ 8 เมษายน 2567 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับบริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด เผยผลการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568-2572 หรือ “Thailand Talent Landscape” โดยได้มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการในประเทศไทยกว่า 300 ราย ภายใต้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และนำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การทำงานร่วมกับบริษัท ไอริสฯ ที่ทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการ โดยทำงานร่วมกับทีมงานของ สอวช. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นโจทย์วิจัยของรัฐบาล และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรหรือคอร์สเรียนต่าง ๆ ได้ 

ซึ่ง สอวช. เองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักศึกษาและบุคคลทั่วไปตลอดจนหน่วยงานฝึกอบรม โดยหน่วยงานที่ส่งบุคลากรเข้าอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% และหน่วยงานที่มีการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM สามารถนำค่าจ้างบุคลากรมาลดหย่อนภาษีได้ 150% 

ในปีที่ผ่านมามีบุคลากรที่ผ่านการรับรองการจ้างงานแล้วกว่า 5,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 ราย และตั้งเป้าให้มีผู้ที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง 100,000 ราย

ดร.กิติพงค์กล่าวต่อว่า ในระบบเศรษฐกิจของประเทศมีผู้เล่นรายใหญ่ไม่ถึง 100 บริษัท ครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทของไทย และอีกครึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัว หากภาวะเศรษฐกิจไม่เสถียรก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงต้องสร้างผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

นอกจากนี้โครงสร้างประชากร โดยทางฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างประชากรของไทยเป็นรูปแบบพีระมิดฐานกว้าง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มฐานของพีระมิด สอวช. จึงได้ทำโครงการ Social Mobility เพื่อยกฐานะทางสังคมของประชากรฐานราก โดยมีเป้าหมายทำให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570

ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงกระทบกับการค้า การลงทุน ซึ่งการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้จะหาทางออกได้ยากหากขาดกำลังคนที่เพียงพอ และกำลังคนที่มีทักษะ หรือมีสมรรถนะสูง

ผลสำรวจ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้านนางสาวเพ็ญสุดา เหล่าศิริพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวถึงผลสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม สำหรับปี 2568-2572 หรือ “Thailand Talent Landscape” ว่า จากการสัมภาษณ์องค์กรต่าง ๆ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พบประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 

    1. ยานยนต์สมัยใหม่ มีทิศทางของอุตสาหกรรมเรื่องเครื่องยนต์สันดาปภายใน ระบบไอเสีย และระบบน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะถูกแทนที่ด้วยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่รองรับการส่งจ่ายด้วยพลังงานไฟฟ้า 
    2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม มีทิศทางการเติบโตคงที่และมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งส่วนใหญ่ยังรับจ้างประกอบ โดยขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตนเอง 
    3. การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีทิศทางของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการฟื้นฟูสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาเป็นมิตรและบริการประทับใจ 
    4. เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตรกรรมของประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ระบบเกษตรกรรมจึงต้องปรับตัวและมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย
    5. การแปรรูปอาหารและอาหารแห่งอนาคต มีทิศทางที่เน้นความยั่งยืน คนส่วนใหญ่เลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโปรตีนทางเลือกแม้ตลาดจะเล็กแต่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น อาหารฟังก์ชั่นสำหรับกลุ่มที่ต้องการโภชนาการมากกว่าพื้นฐาน และอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีทิศทางดีขึ้น
    6. การบินและโลจิสติกส์ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคอาเซียน
    7. เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างจำกัดจากอุปสงค์ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีเอทานอลเป็นส่วนประกอบหลักลดลง ตลอดจนความเข้มข้นของมาตรการทางกฎหมายการนำเข้าและส่งออกในต่างประเทศที่ส่งผลต่อการค้าของประเทศไทย
    8. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล และการสนับสนุนเงินทุนวิจัย ทุนพัฒนาทักษะ ทุนสร้างสรรค์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
    9. ดิจิทัล มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายผ่านระบบออนไลน์
    10. การแพทย์ครบวงจร เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีจุดแข็งด้านอัตราค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก

นางสาวเพ็ญสุดา เหล่าศิริพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด

ทั้งนี้พบว่าทุกอุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในทุกมิติ ตลอดจนต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านในสาขาที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามทักษะทางด้านภาษา การทำงานเป็นทีม และสามารถรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ ยังมีความจำเป็นในทุกอุตสาหกรรม