R&D ในภาคอุตสาหกรรม กับอนาคตประเทศไทย

R&D
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษา TDRI 
        ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารไทยพาณิชย์
        อลงกรณ์ ฉลาดสุข นักวิจัย TDRI

หากจำแนกแรงขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิต ตามปัจจัยการผลิต ต้นกำเนิดของการขยายตัว คือ คน ทุน และเทคโนโลยี ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามภาคส่วนต่าง ๆ ในมิติของกิจกรรมและพื้นที่ เมื่อผ่านกระบวนการบริหารจัดการก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศในภาพรวม

ท่ามกลางแรงกระทบมากมายในระยะหลัง ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ฝุ่นควัน และการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

พื้นฐานของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา คือ การวิจัยและนวัตกรรม โครงการการศึกษาความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มภารกิจนโยบายยุทธศาสตร์และแผนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงมุ่งทบทวนสถานะและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยขอหยิบยกข้อพบเห็นเบื้องต้นมาหารือในบทความชิ้นนี้

ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 4 ชุด ครอบคลุมระยะเวลาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2564 พบว่ามี 12,636 บริษัท ในภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยร้อยละ 65 อยู่ใน กทม.และปริมณฑล และร้อยละ 14 อยู่ใน 3 จังหวัด EEC โดยบริษัทที่มีการลงทุน R&D มีการจ้างงานเฉลี่ยที่ 196 คน มากกว่าบริษัทที่ไม่มี R&D ที่จ้างงานเฉลี่ยเพียง 17 คนในปี 2564

โดยบริษัทที่ลงทุน R&D มีสัดส่วนแรงงานที่ไม่อยู่ในกระบวนการผลิตร้อยละ 14 สูงกว่าบริษัทที่ไม่มี R&D ที่ร้อยละ 8 นอกจากนี้บริษัทที่ลงทุน R&D ใช้ทุนต่อแรงงานสูงกว่าร้อยละ 25 แต่มีอัตราส่วนกำไรใกล้เคียงกัน

จำนวนแรงงาน

เมื่อมองพัฒนาการในช่วงดังกล่าวแล้ว บริษัทที่ลงทุน R&D มักจะเป็นบริษัทที่มีการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้าน R&D ต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนกำไรเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล นอกจากนี้กิจกรรมที่มีการลงทุน R&D ในพื้นที่ EEC จะมีความหลากหลายน้อยกว่าในพื้นที่อื่น ๆ จึงน่าสังเกตว่า ธุรกิจที่มีการลงทุน R&D สูง อาจมีลักษณะเฉพาะ แต่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนตามแรงจูงใจเพื่อทำกำไร

ปัจจัยอีกประการที่อาจส่งผลต่อ R&D และนำมาต่อยอดออกแบบนโยบายส่งเสริมการลงทุน R&D คือ การสร้างความพร้อมของบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยในภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานที่เป็นนักวิจัยเพียง 1.5% ของแรงงานที่เป็นลูกจ้าง 4.6 ล้านคนในปี 2564 โดยในกลุ่มดังกล่าวมีนักวิจัยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าประมาณ 5 หมื่นคน แต่ค่าจ้างเฉลี่ยของนักวิจัยไม่ได้แตกต่างจากค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ขณะที่กลุ่มนักวิจัยที่มีวุฒิการศึกษาน้อยกว่าปริญญาตรีจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าแรงงานปฏิบัติการถึงร้อยละ 60

อย่างไรก็ดี นักวิจัยที่มีวุฒิปริญญาตรีหรือสูงกว่าในพื้นที่ EEC ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าผู้ประกอบวิชาชีพถึงร้อยละ 66 ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยของนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2549-2554 เป็นร้อยละ 4 ต่อปี และร้อยละ 8 ต่อปี ในช่วง 2554-2559 และ 2559-2564 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความต้องการแรงงานกลุ่มดังกล่าวใน EEC สอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการพัฒนาบุคลากรวิจัยในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

การวิจัยและนวัตกรรมจะต้องพึ่งพาทั้งการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาวิจัยด้านพื้นฐานที่อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นรากฐานให้การวิจัยและพัฒนาในเชิงธุรกิจนำไปต่อยอดได้

การลงทุนในส่วนนี้จึงต้องอาศัยการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปในเชิงกลยุทธ์ คือ การมุ่งเป้าที่ผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศย่างคุ้มค่าและรองรับกาเปลี่ยนแปลงของประเทศภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงมากในโลกปัจจุบันได้ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับจุลภาค คงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในองค์กรหรือธุรกิจ แต่ครอบคลุมถึงระดับบุคคล ทั้งแรงงานและนักศึกษาที่ต้องปรับตัวเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ สร้างรายได้และความมั่งคั่งให้กับครอบครัวและสังคม อันจะนำมาสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด