หุ่นยนต์ส่งของสุดคิวต์

หุ่นยนต์
คอลัมน์ : เอชอาร์คอร์เนอร์

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ไม่เพียงเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต หากยังตอกย้ำความสำเร็จของการเรียนแบบ work-based education ด้วยการผสานพลังคนรุ่นใหม่ ในการผลักดัน “ออลล์ เวลเนส” ธุรกิจในกลุ่มซีพี ออลล์ เพื่อพัฒนา “outdoor delivery robot” หรือ “หุ่นยนต์ส่งของสุดคิวต์” ภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

ที่ไม่เพียงจะสร้างขนส่งพลังงานสะอาด หากยังเป็น “ตัวช่วย” ให้พนักงานทำงานอย่างสะดวกอีกด้วย

“ชูศักดิ์ ทวีกิติกุล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ธุรกิจในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และเซเว่นดีลิเวอรี่ กล่าวว่า การพัฒนา outdoor delivery robot หรือหุ่นยนต์ส่งของสุดคิวต์ของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์ในช่วงก่อนหน้านี้ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาในเฟสที่ 2

โดยแนวคิดที่ทางเครือมุ่งเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวนั้น มีเบื้องหลังทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน คือ

หนึ่ง สร้างขนส่งพลังงานสะอาด (green energy delivery) ด้วยการนำหุ่นยนต์ซึ่งใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% มาช่วยให้เกิดการขนส่งที่ไม่ก่อมลพิษ ไม่ส่งเสียงดัง

สอง เพิ่มตัวช่วยด้านการขนส่งให้แก่พนักงาน (delivery assistant) ด้วยการใช้เทคโนโลยีระบบนำทางอัตโนมัติ AI ไร้คนขับเข้ามาแบ่งเบาภาระการทำงานของพนักงานหน้าร้าน ในช่วงที่มีปริมาณการสั่งสินค้าเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก รวมถึงยังช่วยการขนส่งในเวลากลางคืน ตอบโจทย์การเป็นร้านที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

สาม เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และพนักงาน (safety delivery) มาช่วยลดความกังวลเรื่อง COVID-19 และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

สี่ มอบโอกาส tech talent สร้างงานที่ท้าทายให้แก่เหล่า tech talent รุ่นใหม่ ลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับงานด้าน AI และ robotics ในการสร้างโอกาสพัฒนาคน และดึงดูดให้บุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมงานกับองค์กรมากขึ้น

ห้า ปั้นธุรกิจ new S-curve สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต โดยมองโอกาสการนำ outdoor delivery robot เข้าไปช่วยตอบโจทย์การส่งของให้แก่บริษัทหรือร้านค้าอื่น ๆ ใกล้ 7-Eleven ไปยังผู้บริโภคด้วย

“ที่ผ่านมาหุ่นยนต์มีบทบาทพลิกโฉมโลกไปพอสมควร แต่คนทั่วไปอาจยังมองไม่เห็น เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์สร้างรถ ช่วยประกอบรถให้เสร็จภายในไม่กี่นาที หุ่นยนต์ภาคการเกษตร ช่วยรดน้ำ ให้ปุ๋ย แต่หลังจากนี้หุ่นยนต์จะยิ่งมีบทบาทใกล้ชิดชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น

เราได้เห็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตามบ้าน กลายเป็นสินค้าขายดีระดับท็อป เราเริ่มเห็นหุ่นยนต์ indoor delivery robot ตามร้านอาหารต่อไป เราอยากให้ outdoor delivery robot ของเซเว่นอีเลฟเว่น ไปส่งของตามบ้านใกล้ชิดผู้คนด้วยเช่นกัน และเราเชื่อว่าอนาคตจมีหุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์การเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยอีกด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าหุ่นยนต์จะไม่เข้ามาแย่งงานของคน แต่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยงานคน โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) และมีประชากรวัยแรงงานลดลง ลดภาระการทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำ (routine tasks)

เพื่อให้มนุษย์สามารถนำเวลาไปทำงานที่ยาก มีความจำเป็นต่อความอยู่รอด และมีความซับซ้อนมาก เช่น ปัญหาโลกร้อน มลพิษและขยะ ภาวะขาดแคลนอาหาร การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เชื้อโรคต่าง ๆ ที่รุนแรงและกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

โดยเครือซีพี ออลล์ จะมุ่งช่วยพัฒนาทักษะด้าน AI robotics และ coding ให้แก่เยาวชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (4-15 ปี) ผ่านสถาบัน RobotLAB Thailand ซึ่งเป็นความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับภาคการศึกษาระหว่างออลล์ เวลเนส และ RobotLAB สหรัฐอเมริกา ณ อาคาร SIAMSCAPE ชั้น 9 โดยเริ่มดำเนินการสอนตั้งแต่ปี 2565 และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

“ผศ.ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส” ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาหุ่นยนต์ในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม indoor delivery robot หรือหุ่นยนต์สำหรับใช้ส่งของภายในอาคารเท่านั้น การพัฒนา outdoor delivery robot ถือเป็นเรื่องท้าทาย และเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย

“จุดยืนของ PIM จะมุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ work-based education ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง เรียนเป็น คิดเป็น ทำงานเป็น สร้างนวัตกรรม งานวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่ง outdoor delivery robot

นับเป็นอีกงานวิจัยหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง สร้างสรรค์งานที่คำนึงถึงความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อโลก ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม”

สำหรับการพัฒนาในเฟสแรก ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จนหุ่นยนต์มีรูปลักษณ์และดีไซน์ดังกล่าว สามารถรับส่งของได้ครั้งละ 2 ออร์เดอร์ โดยทดลองวิ่งจริงในพื้นที่เฉพาะสำหรับการทดสอบ หรือ sandbox บริเวณพื้นที่อาคารของ PIM และพื้นที่ธารา พาร์ค เพื่อให้แน่ใจว่าการวิ่งส่งของแต่ละครั้งมีความแม่นยำบนถนน รวมถึงสิ่งกีดขวางหลากหลายรูปแบบ

ขณะที่การพัฒนาในเฟสถัดไปจะพิจารณาการออกแบบหุ่นยนต์ให้มีหลายขนาดมากขึ้น พร้อมกับตอบโจทย์การรับ-ส่งสินค้าให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ด้วย