Ecotopia สยามพิวรรธน์ นำสินค้ารักษ์โลกก้าวสู่เวทีนานาชาติ

ECOTOPIA
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต, นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์, อุสรา ยงปิยะกุล, ปวีณา คชเสนี

ในงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน-2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability) โดยงานครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังขององค์กรชั้นนำในประเทศไทย ด้วยการนำองค์ความรู้เรื่องความยั่งยืน ผลการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มานำเสนอบนพื้นที่กว่า 4 หมื่นตารางเมตร

หนึ่งในไฮไลต์ของงานที่ดึงดูดความสนใจผู้คนไม่น้อยคือโซน “Ecotopia” ของ “สยามพิวรรธน์” ซึ่ง Ecotopia เป็นมัลติแบรนด์สโตร์ร้านแรกที่รวมสินค้ารักษ์โลกครบครันหลากหลายที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารของสยามพิวรรธน์ “นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์” ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ “อุสรา ยงปิยะกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด “ปวีณา คชเสนี” ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ บริษัทสยามพิวรรธน์ รีเทล จำกัด และ “รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด ถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน รวมถึงการนำเสนอ Ecotopia ภายในงาน SX 2022

“นราทิพย์” เล่าว่า สยามพิวรรธน์ถือเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ของไทยที่เริ่มต้นทำเรื่องความยั่งยืนนับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท เรายึดมั่นที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาโครงการภายใต้สยามพิวรรธน์

นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์
นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์

โดยมีกลยุทธ์ที่เรียกว่า “การสร้างคุณค่าร่วม” (Shared Values) สร้างผลกระทบเชิงบวกไปสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ อีกทั้งยังมีแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบร่วมสร้าง (Co-Creation) ด้วยการหาพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกันมาร่วมดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่วันนี้ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ต้องมีการผสานศักยภาพร่วมกันทุกฝ่าย

เพื่อพยายามกระตุ้น รณรงค์ให้ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า และประชาชนหันมาสนใจ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขหรือลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันตั้งแต่ในองค์กร และพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจ จนมาถึงการดำเนินโครงการ Siam Piwat 360 Waste Journey to Zero Waste ซึ่งเป็นโครงการที่ปลุกกระแสรักษ์โลก

“โครงการนี้ เมื่อก่อนเริ่มจากคัดแยกขยะในศูนย์การค้า แต่ตอนนี้ขยายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการตั้งจุดรับขยะสะอาดที่ไม่ใช้แล้ว ให้ประชาชนนำมาทิ้งที่จุดดรอปออฟที่สยามพารากอน ก่อนจะส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบ ซึ่งบางส่วนนำเข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิ่ง และส่วนหนึ่งกลับมาวางจำหน่ายบนพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก Ecotopia ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ นี่คือตัวอย่างโครงการที่ทำให้เห็นภาพว่าเราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน”

“นราทิพย์” เล่าต่อว่า Ecotopia เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เกิดจากการร่วมมือกับหลายฝ่าย และเป็นแบรนด์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกของการดำเนินชีวิตตามแนวคิดรักษ์โลก ผ่านการร่วมมือกับ 12 ครีเอเตอร์สายกรีน สร้างชุมชนคนรักษ์โลก อีกทั้งยังเป็นสถานที่จำหน่ายและวางสินค้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปลายน้ำที่ส่งต่อผลิตภัณฑ์รักษ์โลกไปสู่ผู้บริโภคเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง

อุสรา ยงปิยะกุล
อุสรา ยงปิยะกุล

ทั้งนี้ “อุสรา” กล่าวเสริมว่า วันนี้ Ecotopia ถือว่าเติบโตมากขึ้น เป็นที่ยอมรับและติดอันดับ Asia’s 20 Coolest Retailers 1 ใน 20 ร้านค้าปลีกที่เยี่ยมยอดสุดในเอเชีย จาก Inside Retail สื่อธุรกิจรีเทลชั้นนำของเอเชีย ซึ่งการติดอันดับเป็นบทพิสูจน์สำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจที่เล็งเห็นความสำคัญในการเป็นผู้ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต

“คนรุ่นใหม่ใส่ใจโลกมากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับปัญหาสารพัด ขณะเดียวกันดิฉันมองว่าทุกภาคส่วนต่างก็ตื่นตัว ตอนนี้ทุกคนพูดถึง ESG ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) เป็นเรื่องใหญ่ จนภาคธุรกิจนำมาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ”

“อุสรา” บอกอีกว่า Ecotopia เป็นผลมาจากการที่เราให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในธุรกิจ เราจึงอยากให้ทุกคนรู้จักมากขึ้น เพื่อที่จะสื่อสารออกไป ว่าสินค้าของเราดีต่อโลกอย่างไร เพราะถ้าเป็นที่รู้จักแล้วก็อยากจะต่อยอดในการมีพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการของเราอาจจะต้องการแหล่งเงินทุน แหล่งวัตถุดิบใหม่ ๆ มาช่วยต่อยอดในอนาคต

“และสิ่งที่เราอยากได้มากที่สุดคือ การกระจายตัวเองไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราฝัน อยากมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการของเราไปสู่เวทีโลกด้วย”

ขณะที่ “ปวีณา” กล่าวว่า Ecotopia มีซัพพลายเออร์กว่า 300 แบรนด์ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 280 ราย อีกทั้งยังมีบริษัทใหญ่ ๆ ร่วมด้วย สินค้าที่วางจำหน่ายตอนนี้มีกว่า 100,000 รายการบนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ ตอนแรกเราเน้นแค่สินค้าสุขภาพ

แต่ถึงปัจจุบันมีการขยายสินค้ามากขึ้นครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันแทบทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 8 โซน ได้แก่ 1.Hygiene เน้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ 2.Zero waste สามารถนำบรรจุภัณฑ์มา refill เพื่อช่วยลดขยะ 3.Green แหล่งรวมต้นไม้ฟอกอากาศ และอุปกรณ์ทำสวน

4.Healthy โซนอาหารเพื่อสุขภาพที่คัดเลือกวัตถุดิบออร์แกนิกจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลน้อย ไม่ผสมเคมี 5.Beautiful ผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นออร์แกนิก เพราะผู้หญิงสมัยนี้รักตัวเองมากขึ้น ใช้สารเคมีกับตัวเองน้อยลง 6.Up-cycled ผลิตภัณฑ์ที่นำมารีไซเคิลใหม่ 7.Stylish แฟชั่นที่ทำมาจากฝ้ายออร์แกนิก เศษผ้า และ 8.kind งานฝีมือและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบธรรมชาติ ตรงนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมรายได้ให้ชุมชน

“สินค้าที่วางจำหน่ายรับรองได้ว่ามีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการนำมาวางจำหน่ายบนพื้นที่ Ecotopia เรามีเงื่อนไข เช่น คุณภาพได้ไหม ใช้วัสดุอะไร มีการใช้แรงงานแบบไหน มีรายได้กลับคืนสู่ชุมชนหรือไม่ ฯลฯ ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้ เราจะนำไปถ่ายทอดสู่ลูกค้าปลายทางว่า กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นวางขายหน้าร้าน เส้นทางเป็นอย่างไร”

นอกจากนี้ Ecotopia ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป เกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การทำครัวแบบปราศจากของเสียต้องใช้น้ำยาแบบไหน ใช้กล่องเก็บของแบบไหน ถึงจะเกิดมลพิษน้อยสุด สร้างขยะน้อยสุด เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของเราแทบจะทุกอย่างล้วนเป็นการปล่อยของเสีย และยังมี refill station ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มา refill เองได้

ด้าน “รศ.ดร.สิงห์” ในฐานะที่ปรึกษา Ecotopia กล่าวเสริมว่า ตนเริ่มเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับสยามพิวรรธน์ตั้งแต่ปี 2008 ตอนนั้นจำได้ว่าเรื่องความยั่งยืนยังไม่เป็นที่พูดถึงนัก โดยเราเริ่มจากการเก็บขยะในศูนย์การค้า แล้วปรึกษากันว่าทำอะไรได้บ้าง ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น Ecotopia รวมสินค้าหลายร้อยแบรนด์ในพื้นที่

“ผมว่าไม่ง่ายเลยที่ทำเรื่องนี้ ตอนแรกสินค้าขายไม่ดี เหมือนเรากำลังถางป่ารก ๆ ทำทั้งที่รู้ว่ากลุ่มคนต้องการสินค้ารักษ์โลกยังน้อยมาก ซึ่งผมหวังว่าเราจะถางป่าออกไปได้มากขึ้น เราขยายไปต่างประเทศแล้ว อย่างเช่น มาเลเซีย และต่อไปจะ Go Global

ตอนนี้ความยั่งยืนในภาคธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องสีเขียว หรือปลูกป่าอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจตื่นตัวแล้ว เพราะโลกเริ่มแย่ลง เราเจอสภาวะโลกร้อนไม่พอ เรายังพบโรคระบาดแปลก ๆ ดังนั้นวันนี้ทุกคนต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง”