เครือ ซี.พี. หนุนโครงการครอบครัวอุปการะฯ ปีที่ 21 ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผลักดันโครงการครอบครัวอุปการะฯ สู่ปีที่ 21 ผนึกกำลังมูลนิธิแคร์ฟอร์ชิลเดรน เสริมแกร่งแนวทางขับเคลื่อนโครงการ

วันที่ 11 เมษายน 2566 โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากมุ่งมั่นตั้งใจของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในการหล่อหลอมเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเด็กกำพร้า ที่แม้จะได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตตามวัยในสถานสงเคราะห์ แต่พวกเขายังขาด “ครอบครัว” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลให้พวกเขามีพัฒนาการ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคมไปพร้อม ๆ กัน

เครือ ซี.พี.และมูลนิธิ ริเริ่มดำเนินโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา กล่อมเกลา ให้เด็กกลุ่มนี้เป็นคนดี พลเมืองดีที่มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมสร้างสรรค์อนาคตที่ดี และร่วมแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศชาติอย่างมีเป้าหมายต่อไป

โดยมุ่งหวังให้เด็ก ๆ ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่นจาก “ครอบครัวอุปการะ” ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนอันดีงาม ทำหน้าที่เป็นครอบครัวทดแทนให้กับพวกเขา ในสภาพแวดล้อมของชุมชนวัฒนธรรมอีสาน เพื่อให้พวกเขามีพัฒนาการสมวัย มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ โดยเด็ก ๆ จะได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพ

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดันโครงการ เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ผนึกกำลังกับมูลนิธิแคร์ฟอร์ชิลเดรน ในการเสริมความแข็งแกร่งสำหรับแนวทางขับเคลื่อนโครงการ ด้วยการจัดอบรมปฐมนิเทศครอบครัวใหม่ ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากโครงการ และผ่านเกณฑ์การประเมินจากหน่วยงานภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน จำนวน 8 ครอบครัว

โดยมี นางสาววราลักษณ์ วงศ์กา ผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรม มูลนิธิแคร์ฟอร์ชิลเดรน ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่พ่อแม่อุปการะใหม่ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับบทบาทการเป็นครอบครัวอุปการะ ตามหลักแนวคิด Secure Based Approach 5 ข้อ

พร้อมทั้งแนะแนวทางการสร้างความรักและความผูกพันให้กับเด็กอุปการะ เพื่อให้พ่อแม่อุปการะเตรียมความพร้อมก่อนรับเด็ก ๆ จากสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต และสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด เข้ามาอุปการะเลี้ยงดูในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

นางสมหมาย มุ่งดี หนึ่งในครอบครัวอุปการะฯ ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า หลังทราบข่าวจากผู้ใหญ่บ้านว่า มูลนิธิ เปิดรับสมัครครอบครัวจิตอาสา เข้าร่วมโครงการครอบครัวอุปการะฯ จึงปรึกษาสมาชิกในครอบครัวทันที ซึ่งก่อนหน้านี้เคยปรึกษากับสามีว่าอยากมีเด็กมาเลี้ยงดู เนื่องจากตนเองไม่มีลูกจึงอยากมีลูกเพื่อเติมเต็มความผูกพันและความสุข

ที่ผ่านมาได้รับเลี้ยงดูหลานสาวตั้งแต่เล็กจนโต ตอนนี้หลานสาวโตแล้วและกำลังวางแผนไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หากหลานสาวไม่อยู่บ้านคงเงียบเหงา จึงไม่รอช้าที่จะสมัครเข้าโครงการ นี้ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทราบวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ให้ความสำคัญกับการให้โอกาสแก่เด็ก ๆ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับความรักและความอบอุ่น ช่วยอบรมสั่งสอนให้เขาได้มีโอกาสและอนาคตที่ดีด้วย

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

นอกจากนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ยังจัดค่ายเสริมทักษะและการเรียนรู้ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนแก่เด็กและเยาวชนภายใต้โครงการครอบครัวอุปการะฯ เพื่อปลูกฝังความรู้และฝึกทักษะในการดำรงชีวิต ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนได้เปิดโลกทัศน์ เสริมสร้างจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดการวางแผนและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ตลอดจนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคต

ตลอดระยะเวลา 21 ปี โครงการครอบครัวอุปการะฯ ยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไป เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ด้วยการมอบโอกาสให้แก่เด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ได้สัมผัสกับความรักความอบอุ่นอย่างแท้จริงจากพ่อแม่อุปการะ ที่ให้การอบรมเลี้ยงดู บ่มเพาะด้วยความเอื้ออาทร โดยเด็ก ๆ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้เขาเติบโตมาเป็นคนดีของสังคม และพัฒนาชุมชนตนเองต่อไป

บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่าเยาวชนที่ได้เรียนรู้ถึงความรัก ความผูกพัน การเกื้อกูล และมีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณค่า กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของสังคม เป็นพลเมืองดีที่มีประสิทธิภาพที่มุ่งมั่นสร้างความดีเพื่อครอบครัวและชุมชน และร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีต่อไป โครงการนึ้จึงถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของสังคมที่มีต่อเด็กอย่างแท้จริง