พี่น้องคุยกัน AP Open House ชีวิตจริงยิ่งกว่าทฤษฎี

“ผมไปพบความลับของเด็กฝึกงาน แล้วเกิดความสงสาร เนื่องจากเห็นน้อง ๆ ถูกรุ่นพี่ใช้งานสารพัด โดยไม่ได้ความรู้ เหมือนฝึกงานแล้วไม่ได้อะไร เผลอ ๆ ออกจากบริษัทน้อง ๆ เหล่านี้ยังว่าบริษัทตามหลัง จุดนี้เอง ทำให้ผมคิดว่าถ้าฝึกงานแล้วไม่ได้อะไร ก็คงไม่มีประโยชน์ต่อทั้งตัวน้องและบริษัท”

คำกล่าวเบื้องต้นคือคำพูดของ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวกับน้อง ๆ นิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศจำนวน 40 คน ในโครงการ AP Open House 2023 ในกิจกรรม “พี่น้องคุยกัน”

มี 2 พี่ใหญ่ อย่าง “อนุพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “พิเชษฐ วิภวศุภกร” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเป็นกันเอง

ทั้งนี้เพราะ “เอพี ไทยแลนด์” เชื่อว่า…การให้ที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้

มูลเหตุนี้ จึงทำให้บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศมีโอกาสฝึกงาน และเรียนรู้งานจากบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เพื่อให้น้อง ๆ เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมออกสู่โลกการทำงานจริง

กอปรกับอีกความเชื่อว่า…ฝึกงานทั้งที ต้องดีที่สุด เพราะชีวิตจริงยิ่งกว่าทฤษฎี

กล่าวกันว่าความเชื่ออย่างหลังนี้เอง ที่ทำให้บริษัทนำมาเป็นคำโปรยของ AP Open House โปรแกรมฝึกงานที่ได้รับการยอมรับจากนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศว่าโดนใจเป็นที่สุด ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 8 แล้วที่เอพี ไทยแลนด์ เปิดบ้านชวนน้อง ๆ นิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศมาเรียนรู้ชีวิตทำงานจริง

สำหรับปีนี้มีน้อง ๆ ทั้งสิ้น 40 คน จากผู้สมัคร 3,000 กว่าคน เข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำงานด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง พร้อมมอบโอกาสพานักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกไปศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

ที่ผ่านมาโครงการ AP Open House พาน้อง ๆ นิสิต-นักศึกษาจากมหา’ลัยต่าง ๆ ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาหลายรุ่นแล้ว

“อนุพงษ์” เริ่มเล่าให้ฟังก่อนว่า ผมเชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนเมื่อเรียนจบมาจะมีความงง ๆ ว่าเราต้องการทำงานอะไร บางอุตสาหกรรมมองข้างนอกช่างสวยหรู แต่พอเข้าไป กลับไม่ใช่ดั่งฝัน ทำให้เสียเวลาไปเป็นปีกับสิ่งที่ไม่ชอบ จึงอยากจัดโปรแกรม AP Open House ขึ้นมาให้น้อง ๆ ทดลองเจอกับการทำงานจริง

โดยไม่จำเป็นต้องชอบอุตสาหกรรมนี้ก็ได้ ขอแค่ได้ความรู้กลับไป เราบอกกับพนักงานของเราอย่างกำชับเลยว่า ถ้าน้องอยากรู้เรื่องอะไร เรายินดีเปิดให้ดู และให้ความรู้ทั้งหมด

เบื้องต้นในกิจกรรมพี่น้องคุยกัน “อนุพงษ์” และ “พิเชษฐ” เล่าถึงประสบการณ์ และแนวคิดการทำงานตลอดระยะเวลา 32 ปี พร้อมเผยเรื่องราวหลังบ้าน และเคล็ดลับความสำเร็จของบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนให้น้อง ๆ นิสิต-นักศึกษาฟังอย่างกันเอง ทั้งแง่คิดต่าง ๆ หรือหลักการจัดการใจคน ที่จะเป็นต้นทุนสำคัญเมื่อน้อง ๆ ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง

“ย้อนกลับไป 6-7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยอดขายของ AP ติดกับดักอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาทเป็นเวลาหลายปี ไม่ขยับไปไหน ประกอบกับปัญหาการเมืองในออฟฟิศก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นผมจำได้เลย ผมเกือบจะรีไทร์แล้ว เพราะผมอึดอัดพี่พิเชษฐ

ในวันที่พี่พิเชษฐเข้าประชุม ผมไม่เข้า ทุกวันตื่นเช้ามาก็ไม่อยากทำงาน เพราะว่าเราโดนเกมการเมืองในบริษัท ตอนนั้นพี่พิเชษฐก็รู้สึกเช่นกัน อยากจะรีไทร์เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้า เราทำงานเพราะสนุก แต่ทำไมไม่รู้ ตอนนั้นพวกเราถึงรู้สึกเบื่อที่จะมาทำงาน”

แต่ก็เบื่อได้ไม่นาน

เพราะ “อนุพงษ์” ไปพบหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า “The Outward Mindset” หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเปลี่ยนความคิดของ “อนุพงษ์” หากยังเปลี่ยนความคิดของ “พิเชษฐ” ด้วย เพราะเนื้อหาของหนังสือพูดถึงวิธีการมองผู้อื่น สอนให้เรารู้จักมุมมองใหม่ ๆ สำรวจกรอบความคิดแบบมองออก, การคำนึงถึงคนอื่น และการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดให้กว้างขึ้น

นอกจากนั้น “The Outward Mindset” ยังอธิบายเรื่องเมื่อยามเกิดปัญหาขึ้นมา เราจะเจอคนสองแบบอยู่เสมอ แบบแรกมองเห็นแต่ความยุ่งยาก ส่วนแบบที่สองมองเห็นแต่โอกาส แต่อะไรที่ทำให้คนสองแบบนี้แตกต่างกัน คำตอบง่าย ๆ คือ…mindset

“อนุพงษ์” และ “พิเชษฐ” ถึงบางอ้อ และที่สุดจึงนำมาสู่การทรานส์ฟอร์มองค์กรในที่สุด

ถึงตรงนี้ “พิเชษฐ” กล่าวเสริมว่า The Outward Mindset นับเป็นวัฒนธรรมองค์กรหลักที่ปลูกฝังแนวความคิดให้กับพนักงาน AP ทุกคน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน เพราะหลักคิดของหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้มองปัญหาจากแค่มุมมองของตัวเอง แต่ให้ลองมองจากคนคนนั้นที่เราทำงานด้วยจริง ๆ

“และไม่ใช่คิดแค่เพียงว่าจุดมุ่งหมายของเราคืออะไร ลองคิดในมุมเขาดูว่าปัญหา และอุปสรรคของเขาคืออะไร ที่สำคัญ แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เพียงการทำงานเท่านั้น แต่ยังนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้เช่นกัน

ผลลัพธ์จึงไม่ใช่แค่พนักงานทำงานได้ดีขึ้น แต่หมายรวมถึงความสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อพนักงานมีความสุขที่จะมาทำงาน บรรยากาศการทำงานก็จะดี ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นตามมา”

“สำหรับน้อง ๆ การเรียนหนังสือหนัก อาจทำให้เราเครียด แต่สิ่งที่เครียดกว่าคือการมีเพื่อนที่เราไม่ชอบ หรือบางครั้งพบอาจารย์ที่ไม่เข้าใจเรา ซึ่งสองปัจจัยเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของตัวเราเอง แต่หนังสือ The Outward Mindset กลับช่วยทำให้เรามองคนอื่นเปลี่ยนไป เริ่มเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น และคนอื่นยังคงเป็นคนเดิม แต่เราจะทุกข์น้อยลง”

“อนุพงษ์” พยักหน้าเห็นด้วยกับคำพูดของ “พิเชษฐ” พร้อมอธิบายเสริมว่า ปกติเรามักตัดสินคนอื่นด้วยประสบการณ์ของเรา แต่ The Outward Mindset จะสอนให้เรามองคนให้เป็นคน อย่ามองเป็นวัตถุ การที่เราโกรธใครสักคน หรือมีปัญหากับใครสักคนจะต้องหา 3 ข้อดังนี้ให้เจอคือ

1) ความต้องการ (need) หาความต้องการของอีกฝ่าย 2) หาจุดมุ่งหมาย (objective) ของการกระทำของเขาว่าเขาต้องการสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร และ 3) หาความท้าทาย (challenge) และทำความเข้าใจปัญหาที่เขากำลังเผชิญ

“หลายคนบอกการเอาใจเขามาใส่ใจเรา แปลว่าเราต้องอ่อนแอ และยอมตามเขา ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ถ้าคุณเอาหลักคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับทุกเรื่องในชีวิต จะรู้ว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้น เมื่อเราเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเขา พูดกับเขาอย่างสงบ ภายใต้หลัก 3 ข้อข้างต้น ความโกรธจะลดลง ความเข้าใจจะมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราต้องยอมเขาเสมอไป แต่เราจะพูดกับเขาได้ว่า ทำไมเราถึงทำให้ไม่ได้ มีเหตุผลอะไรบ้าง ด้วยความใจเย็นขึ้น”

เมื่อน้อง ๆ นิสิต-นักศึกษาฟังถึงตรงนี้ ทุกคนจึงปรบมือพร้อมกันอย่างเข้าใจ

และทุกคนต่างชื่นชอบ session พิเศษ “พี่น้องคุยกัน” จากสองพี่ใหญ่แห่งบ้านเอพี เป็นอย่างมาก จนทำให้ตลอดช่วงบ่ายของวันนั้น ต่างเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขของทุกคน มากกว่าวิชาความรู้ ความเข้าใจถึงความเป็น “นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” ในแบบฉบับของเอพีแล้ว น้อง ๆ ยังได้ “วิชาชีวิต” ขั้นเทพติดตัวกลับไปอีกด้วย

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย