จากแนวคิดของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าธุรกิจของไทยเบฟมีการขยายไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในอาเซียน โดยเส้นทางการเติบโตของบริษัทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาน่าจะมีสถานที่จัดแสดงบทเรียน หรือเรื่องราวตัวอย่างความสำเร็จให้คนรุ่นใหม่ได้รับทราบ รับรู้
ตรงนี้จึงเป็นที่มาของ “C asean” ภายใต้การบริหารของ บริษัท ซี เอ ซี จำกัด ที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง 10 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ ธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องทั้งนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการทำงานของ C asean ที่บอกว่า “Collaboration for the better of ASEAN”s connectivity” หรือ “การสร้างความร่วมมือที่ดี ที่จะทำให้ประเทศในอาเซียนสามารถเชื่อมโยงกันได้”
“วิเชฐ ตันติวานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด กล่าวว่า จากแนวคิดของคุณฐาปนนั้นเดิมทีคิดว่า C asean น่าจะออกมาในรูปแบบศูนย์ข้อมูล ที่รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนมาศึกษา แต่ในทางกลับกัน คุณฐาปนบอกว่าต้องไม่ใช่แค่ศูนย์ข้อมูล แต่ต้องเป็นสถานที่ที่ให้ผู้คนในภูมิภาคมาพบปะ พบเจอ พูดคุย และสื่อสารแลกเปลี่ยนเรื่องราว โดยมีกิจกรรมทั้งการเสวนา สัมมนา เวทีประชุมแลกเปลี่ยน รวมถึงการจัดนิทรรศการเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ
ผลเช่นนี้ จึงมีการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับประเด็น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และอาเซียน 4 ด้านหลัก คือ
หนึ่ง ด้านความยั่งยืน (sustainability)
สอง การพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ (talent development)
สาม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม (arts and culture)
และสี่ ด้านเทคโนโลยี (technology)
“โดยด้านความยั่งยืน ที่ผ่านมาไทยเบฟทำงานร่วมกับภาครัฐบาล ภายใต้นโยบายสานพลังประชารัฐที่ดำเนินการจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และโมเดลความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ สามารถนำไปเผยแพร่ให้ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ อีกทั้งยังมีแนวคิดจะจัดทำดัชนีความยั่งยืนในระดับบริษัท ในชื่อ C asean Sustainability Index ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย โดยเกิดจากฐานคิดที่ว่าการประเมินผล และวัดผลด้านความยั่งยืนของยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีความแตกต่างกัน เพราะบริบทในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน”
“อย่างเช่นการประเมินของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ที่จัดทำโดย S&P Dow Jones ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดใหญ่ จำนวนมูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization) และต้องมีผลคะแนนการดำเนินงานอย่างยั่งยืนสูงสุด 10% ของแต่ละอุตสาหกรรม แต่ดัชนีของเราจะมุ่งหวังไปยังกลุ่มบริษัทที่รองลงมา ตรงนี้จะเสริมสิ่งที่ DJSI ทำอยู่ ภายใต้มุมมอง และบริบทขององค์กรที่แตกต่างกัน”
“เพราะบางครั้งการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในบางพื้นที่อาจมีรูปแบบ หรือวิธีการดำเนินงานที่แตกต่างกันกับมาตรฐานสากล แต่เป้าหมายหรือปลายทาง เป็นความยั่งยืนเหมือนกัน ดังนั้น การวัดผล ประเมินผลในแต่ละพื้นที่จะต้องมีความแตกต่างกันไป ฉะนั้น C asean Sustainability Index จะสะท้อนบริบทความ
เป็นอาเซียน หรือเอเชีย ซึ่งหากให้กำหนดระยะเวลาว่าจะเห็นหน้าตาเมื่อไหร่นั้น คงบอกได้เลยอีกพักใหญ่ เพราะต้องเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ และเชื่อมโยงกับ ASEAN way ที่สำคัญไม่ใช่เอาตัวอย่างการทำงานความยั่งยืนของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเกณฑ์ แต่ต้องมองทั้งอาเซียน”
เพราะดัชนีที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกัน และเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และวันหนึ่งถ้าสามารถนำไปเผยแพร่ได้ในระดับอาเซียน หรือเอเชีย จะถือว่าเป็นดัชนีฝั่งตะวันออกก็ว่าได้
ขณะที่ด้านการพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ “วิเชฐ” บอกว่าส่วนใหญ่จะเน้นกิจกรรมพัฒนานิวเจน โดยจะมี dream office ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง startup และอยากให้ธุรกิจของตนเองขยายออกไปในภูมิภาคนี้ โดย dream office จะมีการเชื่อมโยงไปยัง 10 ประเทศของอาเซียน และในปัจจุบันได้ทำงานร่วมกับ government agency ของ 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และมาเลเซียในการให้สตาร์ตอัพพบเจอกัน
“นอกจากนี้ยังมีการจัดโปรแกรม CODE (codevelopment) การทำงานระหว่างภาควิชาการ ที่เป็นสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่เป็นสายธุรกิจ ในการร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาตามที่ภาคเอกชนมีความต้องการ อย่างเช่นในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ภาคเอกชนต้องการศึกษาและประเมินผลเรื่อง hospitality, tourism, city development โดยสามารถร่วมกับสถาบันการศึกษา และอาจจะไม่ใช่เพียงแค่สถาบันเดียว แต่จะทำให้นักศึกษามีโอกาสรับการพัฒนาที่ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงงานศึกษาวิจัย พัฒนา และประเมินผลที่สามารถนำไปใช้ได้จริง”
“ส่วนด้านศิลปะและวัฒนธรรม C asean มีการก่อตั้งวงดนตรี C asean Consonant วงที่มีเครื่องดนตรี 10 ชิ้น จาก 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งเล่นโดยนักดนตรีของประเทศนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นการนำดนตรีมาเชื่อมโยงวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน และสุดท้าย ด้านเทคโนโลยี จะเน้นความเชื่อมโยง และเกี่ยวข้องในบริบทของนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้กิจกรรมที่ออกมาจะเป็นการประชุม สัมมนา หรือจัดการแข่งขัน”
“วิเชฐ” กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของ C asean จะเป็นแบบกิจการเพื่อสังคม (social enterprise-SE) ที่ไม่ได้มุ่งหวังสร้างผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะช่วยแก้ไขปัญหา และแบ่งปันให้กับสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีทุนประเดิมก้อนแรกในการทำงานจากไทยเบฟ และถ้าจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เราอยากเชิญภาคเอกชนอื่น ๆ ที่สนใจ ทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศอาเซียนที่สนใจเรื่องเหล่านี้มาร่วมกันสนับสนุน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงแค่บริจาค แต่มาร่วมเป็นพันธมิตร ด้วยการเพิ่มทุน ระดมทุนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วเรามุ่งหวังที่จะเป็น SE ของอาเซียนต่อไป”
ขณะที่ “ต้องใจ ธนะชานันท์” กรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด กล่าวว่า เห็นว่ากิจกรรมของ C asean มีหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กรล่าสุดเราจัดงานเสวนาใน
หัวข้อ “C asean Sustainable Development Talk” โดยมี “ศ.ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้แห่งแรกของโลก และ “มีชัย วีระไวทยะ” ต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ของเมืองไทย มาร่วมเสวนา เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social business) ในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ผ่านการเชื่อมโยงสู่คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน
“อีกทั้งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เรายังมีการจัดแข่งขันแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ชื่อว่า “Win-Win WAR” เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และผลักดันให้คนรุ่นใหม่แสดงศักยภาพการทำงานด้านความยั่งยืน โดยจะเปิดรับสมัครเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ที่มีความสนใจ หรือไอเดียในการทำธุรกิจที่ช่วยแก้ไขปัญหา หรือยกระดับสังคมให้ดีขึ้น ภายใต้แนวคิดธุรกิจแบ่งปัน”
“หลังจากนั้นเราจะให้น้อง ๆ ที่สมัครเข้ามา นำเสนอแนวคิด และไอเดียในการทำธุรกิจ เพื่อคัดเลือกให้เหลือราว 20-30 คน พร้อมอบรมให้ความรู้ในเรื่องของบทเรียน บททดสอบ โจทย์การบ้านต่าง ๆ ในการเฟ้นหาผู้มีทักษะความสามารถที่จะทำให้ธุรกิจนั้น ๆ เติบโต และช่วยเหลือสังคมได้จริง โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลในการไปดำเนินธุรกิจ หรือกิจการของตนเอง”
“เพราะเราคาดหวังอยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดเป็นกระแสในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิด และไอเดียดี ๆ ทั้งนี้หากการแข่งขันรายการนี้ประสบความสำเร็จ คิดว่าจะขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย”
จึงนับเป็นบทบาทของ C asean ที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของประเทศแถบอาเซียน เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน