ปตท.สผ. อนุรักษ์ทะเลไทย ชวนเยาวชนร่วม PTTEP Teenergy

ดั่งที่ทุกคนทราบดี ท้องทะเลคือแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและช่วยกันปกป้องดูแลได้ ผลเช่นนี้จึงทำให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงศักยภาพและพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ จึงจัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 (The 3rd Young Ocean for Life Innovation Challenge) ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 900,000 บาท ภายใต้โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 พร้อมชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมโชว์ไอเดียอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

“สุศมา ปิตากุลดิลก” รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปตท.สผ. กล่าวว่า นอกจากภารกิจหลักของ ปตท.สผ. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมดูแล รักษา และปกป้องท้องทะเลไทย

สุศมา ปิตากุลดิลก
สุศมา ปิตากุลดิลก

โดยผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในการทำโครงการเพื่อสังคมผ่านกลยุทธ์ “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life)

โครงการ PTTEP Teenergy ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของ ปตท.สผ. ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

“ทั้งนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง ปตท.สผ. จึงจัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ด้วยการเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ถึงระดับปริญญาตรีมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน รวมถึงยังเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทย และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป”

อัครพันธ์ ทวีศักดิ์
อัครพันธ์ ทวีศักดิ์

สำหรับผลงานจากการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดย “อัครพันธ์ ทวีศักดิ์” หรือ “น้องไอซ์” บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Green Grove รองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ “Preserve” ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน IMPOT ชุดปลูกโกงกางอัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ

“อัครพันธ์” เล่าถึงไอเดียเล็ก ๆ ใน Proposal ที่ตอนนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อต่อยอดทำให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า และเข้าใจในเรื่องการปลูกป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น ว่าตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ โดยได้แนวคิดมาจากถุงเพาะกล้าไม้พลาสติก ที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้หลังจากปลูกป่าชายเลนเสร็จแล้ว

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่อยากจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการให้คนที่ปลูกป่าชายเลนเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่ทุกคนสามารถช่วยทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุต้นไม้พร้อมปลูก เพื่อนำไปใช้แทนถุงพลาสติกแบบเดิม

อพินญา คงคาเพชร
อพินญา คงคาเพชร

ขณะที่ “อพินญา คงคาเพชร” หรือ “น้องตาล” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Scraber ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน The Automatic Warning of Crab Molting Detection by Application

เล่าด้วยความภาคภูมิใจถึงจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำในเชิงเศรษฐกิจว่าความคิดแรกเริ่มคือต้องการช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวเพื่อนซึ่งทำฟาร์มปูนิ่มเท่านั้น

“แต่เมื่อส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ได้รับโอกาสที่ดีจาก ปตท.สผ. ในการต่อยอดผลงาน เนื่องจากปูนิ่มเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชนในจังหวัดสตูล สำหรับ Application ระบบการแจ้งเตือนการตรวจจับการลอกคราบปูที่คิดค้นขึ้นนั้น สามารถนำไปช่วยเหลือในการดูและจับการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน

ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยชุมชนประหยัดเวลา กำลังคน และสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งในอนาคตยังสามารถต่อยอดนำไปใช้กับปูชนิดอื่น ๆ เพื่อขยายตลาดและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

กวินธิดา ปิ่นทอง
กวินธิดา ปิ่นทอง

สำหรับ “กวินธิดา ปิ่นทอง” หรือ “น้องฟอร์แทรน” นิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนทีม Sea the Future ผู้ชนะเลิศหัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 2 ปี 2565 จากผลงาน Fisherman’s Friend Application เชื่อมโยงเครือข่ายชาวประมงชายฝั่ง ให้มุมมองในฐานะที่ตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ PTTEP Teenergy และได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก

“อยากจะเชิญชวนทุกคนส่งผลงานเข้ามาประกวดกันเยอะ ๆ ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่มั่นใจได้เลยว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้รับความรู้ คำแนะนำ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดไอเดีย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้ หรือหากเป็นทีมที่ได้รับรางวัลในการต่อยอดแบบพวกเรา ก็เป็นโอกาสที่ผลงานจะได้รับการพัฒนา และนำมาใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปช่วยชุมชนของเราได้อีกด้วย”

กล่าวกันว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน เพื่อช่วยกันดูแลให้ทรัพยากรทางทะเลได้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ดังนั้น ผู้สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ “PTTEP Teenergy ปีที่ 9” ได้ตั้งแต่วันนี้-31 มกราคม 2567 หรือที่ https://www.eventsonlinecenter.com/pttep_teenergy/ รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารที่ www.facebook.com/pttepcsr