วิถียั่งยืนแบบ ACE “ผมกลัดกระดุมตั้งแต่เม็ดแรกถูก”

ต้องยอมรับว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ที่ตั้งคำถามถามตัวเองก่อนจะดำเนินธุรกิจว่า…หากทำธุรกิจจะไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างไร ?

เพราะส่วนใหญ่หลายบริษัทจะมองผลกำไรเป็นหลัก จากนั้นถึงมามองเรื่องการขยายการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะเกิดความยั่งยืนหรือไม่

แต่สำหรับ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ “ACE” ผู้ผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ของประเทศ ทั้งยังเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดของไทย กลับตั้งคำถามดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะความยั่งยืนที่ครอบคลุมการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ หนึ่ง เศรษฐกิจ สอง สิ่งแวดล้อม และสาม สังคมชุมชน

ธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ
ธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ

“ธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผมเชื่อว่าเรากลัดกระดุมตั้งแต่เม็ดแรกถูก เพราะธุรกิจของเราเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนทั้งสิ้น

ผมจึงกล้าถามตัวเองว่า ถ้าธุรกิจจะไม่ยั่งยืนเกิดจากอะไร คำตอบคือธุรกิจนั้น ๆ กำลังเสื่อมความนิยม หรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือธุรกิจนั้น ๆ ไม่สามารถแข่งขันในเชิงคุณภาพ และต้นทุนราคาหรือเปล่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมิติทางด้านเศรษฐกิจ

“ส่วนมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม ผมตั้งคำถามอีกว่าธุรกิจที่ทำอยู่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักหรือเปล่า และถ้าทรัพยากรธรรมชาติหมดไปล่ะ จะทำอย่างไร และจะเกิดความยั่งยืนหรือไม่ ที่สำคัญ ธุรกิจที่ทำอยู่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้าส่งผล จะไม่เกิดความยั่งยืนในอนาคต

ขณะที่มิติทางด้านสังคม ต้องตั้งคำถามว่าธุรกิจที่ทำอยู่ สังคมยอมรับได้หรือไม่ และธุรกิจที่ประกอบกิจการอยู่ ผิดกฎหมายหรือไม่ กระทบสังคมโดยตรงหรือเปล่า ถ้ากระทบ หรือผิดกฎหมายก็จะไม่เกิดความยั่งยืนเหมือนกัน”

ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ธนะชัย” เชื่อมั่นว่า การประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดตั้งแต่ปี 2010 หรือ 14 ปีผ่านมา ทิศทางพลังงานของไทยจะต้องไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพราะพลังงานฟอสซิลไปต่อไม่ได้ ถึงวันนี้คงเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยจะต้องเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน

ฉะนั้น คำตอบในส่วนของมิติเศรษฐกิจจึงค่อนข้างชัดว่า ธุรกิจที่เราดำเนินอยู่มีความยั่งยืน เพราะอนาคตความต้องการไฟฟ้ายังมี และยิ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดด้วย ยังไงทิศทางก็ต้องมาทางนี้แน่นอน

“ส่วนเรื่องมิติด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจของเราเป็นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป ทั้งยังไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศชาติ จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่เกิดความยั่งยืน

ขณะที่มิติด้านสังคม ทุกโรงไฟฟ้าของเราเวลาเข้าไปดำเนินธุรกิจในสังคมชุมชน ชาวบ้านเขาไม่ร้องยี้ เพราะธุรกิจของเราเป็นพลังงานสะอาด ที่สำคัญ ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะทุกครั้งเมื่อเขานำของเหลือทิ้งจากผลผลิตทางการเกษตรมาขาย เขาจะมีรายได้กลับไปทุกครั้ง จนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแรงขึ้น”

ธีรวุฒิ ทรงเมตตา
ธีรวุฒิ ทรงเมตตา

ถึงตรงนี้ “ธีรวุฒิ ทรงเมตตา” กรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) เสริมขึ้นว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของ ACE มีกำลังการผลิตรวม 652.64 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 27 โครงการ, โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 4 โครงการ, โรงไฟฟ้าชีวภาพ 18 โครงการ, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 40 โครงการ, โรงไฟฟ้าโคเจน 1 โครงการ และบริหารจัดการขยะฝังกลบ 1 โครงการ โดยแยกเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการ และขายไฟเข้าสู่ระบบแล้ว 23 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 68 โครงการ

“ดังนั้น นโยบายของเรานอกจากจะเป็นต้นแบบผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของโลก เรายังเป็นผู้นำด้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานที่ได้จากโรงไฟฟ้าชีวภาพที่เปลี่ยนต้นไม้ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นพลังงานไฟฟ้า, โรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สำคัญ การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงไม่ใช่แค่เป้าหมายปลายทาง เพราะ ACE มีเจตนารมณ์ว่า ทุกโอกาสทางธุรกิจ ต้องขับเคลื่อนด้วยความรับผิดชอบ และสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ตลอด 14 ปีผ่านมา นับจากก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล จึงมีผลงานด้านการสร้างความยั่งยืนใน 4 ด้านหลัก ๆ คือ

หนึ่ง ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3.1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

สอง ลดปริมาณการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง เทียบเท่าพื้นที่ 13.4 ล้านไร่

สาม ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรทั่วประเทศจากการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาท จนทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 70,000-80,000 ล้านบาท

สี่ ช่วยให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นกว่า 1,000 ตำแหน่ง

โรงไฟฟ้า ACE จะประกาศรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทบทุกพื้นที่เลย และจะมีราคากลางแจ้งไว้ในเฟซบุ๊ก คล้าย ๆ กับราคากลางของตลาดพืช ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยจะแจ้งว่าวันนี้ราคากลางเท่าไหร่ และทุก ๆ 2 อาทิตย์ เราจะอัพเดตราคาตลอด ผมถึงบอกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนจริง ๆ

นอกจากโรงไฟฟ้าจะเป็นพลังงานสะอาดแล้ว ปล่องควันยังไม่มีควันด้วย ชาวบ้านทุก ๆ ชุมชนที่เรามีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ เขาพอใจกับเรามาก เพราะไม่มีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย มิหนำซ้ำเศษเถ้าชีวมวล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แกลบดำ ยังขอไปทำถนน ถมที่ หรือบางทีทางวัดในชุมชนก็มาขอไปปรับคุณภาพดิน ซึ่งเราก็ให้พวกเขามาขนไปฟรี ๆ เลย

ทั้งนั้นเพื่อต้องการดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมาย Net Zero 2050 ที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยิ่งเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้เกือบครึ่งหนึ่งภายในปี 2028 และให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 โดยส่วนนี้ ACE คาดว่าน่าจะสามารถดำเนินการเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือน่าจะสัมฤทธิผลในปี 2040

ทั้งยังคาดการณ์ว่าอนาคตธุรกิจของพลังงานสะอาดน่าจะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย และต่างประเทศที่ ACE เตรียมปักหมุดที่จะขยายโรงไฟฟ้าออกไปอีกเรื่อย ๆ ทั้งนั้นคงเป็นดั่งที่ “ธนะชัย” กล่าวไว้แต่แรกว่า… ผมเชื่อว่าเรากลัดกระดุมตั้งแต่เม็ดแรกถูก

“ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดจึงเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนทั้งสิ้น”