บางจาก เปลี่ยนผ่าน Mobility สีเขียว ลุย “SAF” น้ำมันไบโอเจ็ต-มอ’ไซค์อีวี “วินโนหนี้”

บางจาก

ในปี 2568 ธุรกิจสายการบินใน “สหภาพยุโรป” จะเริ่มใช้มาตรการบังคับให้ผสม “น้ำมันอากาศยานยั่งยืน” หรือ “SAF” (Sustainable Aviation Fuel) ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไป ในสัดส่วนอย่างน้อย 2% แล้วค่อย ๆ ทยอยเพิ่มเป็น 5% ในปี 2573 จนถึงปี 2593 ต้องผสมที่ 70% เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายให้เครื่องบินที่ใช้สนามบินญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2573

มาตรการผสม SAF นี้ นับว่าเป็นมาตรการที่ภาคการบินทั่วโลก เริ่มนำมาใช้มากขึ้น

SAF ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 (2593) ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA)

แต่น้อยคนเท่านั้นที่จะรู้ว่า SAF ผลิตจากอะไร กว่าที่จะมาเป็น “น้ำมันเครื่องบิน” สุดคลีน สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินทุกวันนี้

รู้จัก “น้ำมันอากาศยานยั่งยืน” หรือ “SAF”

คำว่า “น้ำมันอากาศยานยั่งยืน” หรือ “SAF” (Sustainable Aviation Fuel) หรือเรียกสั้น ๆ ง่ายว่า BIO JET น้ำมันชนิดนี้เป็นที่รู้จักในฐานะน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เมื่อเทียบกับการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินแบบเดิม การผลิต SAF มาจากน้ำมันทำอาหารใช้แล้ว” หรือ (Used Cooking Oil)

SAF เกิดขึ้นจากที่ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการขับเคลื่อนที่ใช้พลังงานสะอาด ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น รถยนต์สันดาปเปลี่ยนมาเป็นอีวี แต่เครื่องบินจะเปลี่ยนเป็นอีวีอาจจะเป็นไปได้ยาก ด้วยน้ำหนักบรรทุกที่อาจจะสูงเกินไป จึงมีแนวทางเปลี่ยนผ่านด้วยการใช้น้ำมันไบโอมาเป็นส่วนผสม เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง

ผู้ผลิตน้ำมันในโลกเริ่มสนใจพัฒนาโรงงานผลิต SAF มากขึ้น

แต่สำหรับในประเทศไทย “บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นเจ้าแรกที่ประกาศแผนการลงทุน SAF เป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้วยการร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาทโดย SAF เป็นเชื้อเพลิงที่ภาคการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์

ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ BSGF เป็นผู้นำการผลิต “เชื้อเพลิงเครื่องบินคาร์บอนต่ำ” จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นแห่งที่สองในภูมิภาคเอเชีย ที่มีกำลังผลิตถึง 1 ล้านลิตร คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2568

ทอดไม่ทิ้งรับซื้อน้ำมันทำอาหารใช้แล้ว

การผลิต SAF ปริมาณถึง 1 ล้านลิตรต่อวันนั้น จำเป็นต้องเตรียม แผนการจัดหาวัตถุดิบ “น้ำมันประกอบอาหารที่ใช้แล้ว” 700,000 ลิตรต่อวัน โดยบางจากเริ่มดำเนินโครงการ “ทอดไม่ทิ้งกัน” เพื่อรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว

ปัจจุบัน บางจากได้เปิดจุดรับซื้อที่สถานีบริการน้ำมันบางจากทั่วประเทศ กำหนดราคารับซื้อ 20-23 บาทต่อลิตร ถือว่าสูงมาก หรือนำมาแลกเป็นส่วนลดราคาน้ำมันได้

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บีเอสจีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมในการรณรงค์เพื่อขจัดปัญหาขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ระหว่าง บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูซีโอ เอสดีจี จำกัด ซึ่งเป็นคู่ค้าของบริษัท ธนโชค โดยทั้ง 2 บริษัทได้ตกลงกันส่งมอบน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วที่รวบรวมจากหมู่บ้านจัดสรรของคุณาลัย 3,800 ยูนิต ขายให้กับธนโชค เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF

บางจาก วินโนหนี้

2 ปี ยอดใช้ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า “วินโนหนี้” โต

อีกด้านหนึ่ง บางจากได้สร้างธุรกิจการขับเคลื่อนสมัยใหม่ ด้วยสตาร์ตอัพ บริษัท วินโนหนี้ จำกัด หรือ Winnonie เมื่อปี 2563 ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียว รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ยังให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ตอบโจทย์การสร้าง Net Zero Ecosystem เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัท ในปี 2593

ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา “วินโนหนี้” มีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็น Win-Win Solution ใน 3 ด้าน คือ ช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเช่าใช้จักรยานยนต์เดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี

ก้าวสำคัญเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา วินโนหนี้ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มบีทีเอส โฮลดิ้งส์ (BTS) จัดตั้งบริษัทสมาร์ท อีวี ไบค์ จํากัด โดย BTS ถือหุ้นในสัดส่วน 66.7% ส่วน บริษัท วินโนหนี้ จํากัด ถือหุ้น 33.3% การให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สําหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “Pinto” เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา พร้อมขยายธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

จากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า วินโนหนี้จะสามารถขยับสู่เป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จากกว่า 1,000 ราย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่ง ในปี 2573 สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 50 ล้านบาท ในปี 2567 และแต่งตัวเข้าระดมทุนใตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศอีก 3-4 ปีข้างหน้าได้หรือไม่