บริบท CIMB THAI ก้าวสู่แชมเปี้ยนด้านความยั่งยืน

ตามรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนประจําปี 2566 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ประเทศไทยมีดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 74.7 คะแนน ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาค เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้อยู่ที่ 67.2 คะแนน นับเป็นผลสัมฤทธิ์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศในการบรรลุเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ขณะที่ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลกในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคส่วนต่าง ๆ มีการใช้พื้นที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 47 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ

และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบสองในสามของการผลิตพลังงานทั้งหมด

“ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” (CIMB THAI) ตระหนักถึงผลกระทบที่ธนาคารมีต่อผู้คน และโลกใบนี้ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เพื่อนําไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“พอล วอง ชี คิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปี 2567 ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการก้าวไปสู่การเป็นธนาคารชั้นนําของอาเซียนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ธนาคารมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการดําเนินงานภายใต้แนวคิดกลยุทธ์หลัก (Strategic Themes) 7 ประการ

ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน (Reshape Portfolio) การขยายฐานเงินฝากให้หลากหลาย (Diversifying Deposits) การผลักดันประสิทธิภาพด้านต้นทุน (Driving Cost Efficiency) การใช้ระบบดิจิทัลสร้างคุณค่าเพิ่มเติม (Digitize for Value)

การเสริมความแข็งแกร่งวินัยการบริหาร ความเสี่ยง (Strengthen Risk Management Discipline) การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Capital Transformation) และการดําเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Sustainability)

“ทุกมิติของการทำธุรกิจของธนาคารในปี 2567 สอดรับกับเป้าหมายที่จะบรรลุกรอบ Green, Social, Sustainable Impact Products and Services (GSSIPS) เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน จำนวน 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาท ซึ่งปี 2566 ทีมสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารสนับสนุนสินเชื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในการทำงานบนวิถีความยั่งยืน Net Zero ปี 2567 ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 36% เทียบกับปี 2562 ทั้ง Scope 1 (การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางตรง) และ Scope 2 (การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน) เพื่อปลุกกระแสสังคมรวมพลังสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน”

ปี 2566 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นเจ้าภาพจัดงาน The Cooler Earth Sustainability Summit ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

งานสัมมนาดังกล่าวเป็นหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของธนาคาร และปีนี้ธนาคารจะจัดสัมมนานี้ต่อเนื่องในแบบ The Cooler Earth Sustainability Series ตลอดทั้งปี ทั้งการฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก และการเสวนาโต๊ะกลมสินเชื่อยั่งยืน

พอล วอง ชี คิน

“พอล วอง ชี คิน” กล่าวด้วยว่า พนักงานซีไอเอ็มบี ไทย (#teamCIMBThai) มีความสำคัญต่อการตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และการดําเนินงานของธนาคาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

โดยธนาคารมีจุดแข็งจากการได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มซีไอเอ็มบี” ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมลงนามในหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Banking) ที่จัดทําโดยสํานักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI)

“ธนาคารมีการดําเนินการที่สอดคล้องกับกลุ่มซีไอเอ็มบี ในส่วนของการดําเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบาย แผนงาน และเป้าหมายด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ธนาคารยังปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนไว้ในดีเอ็นเอขององค์กร โดยแต่ละหน่วยงานผนวกความยั่งยืนมาเป็นกลยุทธ์ของธนาคาร รวมถึงกําหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) ในการดําเนินงานอย่างความยั่งยืนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกสุทธิให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”

“เจสัน ลี” หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนต้องการ Champion ซึ่งแชมเปี้ยนคือคำจำกัดความที่เราใช้สื่อถึงคนที่ปฏิเสธกับการยอมรับกับสภาพปัญหาต่าง ๆ มุ่งมั่นที่จะแสวงหาการเปลี่ยนแปลงและมีความเป็นผู้นำ

ซึ่งปัจจัยที่สร้างความแตกต่างระหว่างผู้นํากับผู้ตามคือผู้นำมีพลังผลักดันให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าเหนือคู่แข่ง และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่โดดเด่น ทั้งด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ สามารถเติบโตได้ดีขึ้นในสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจธนาคารที่ท้าทายดังเช่นในยุคนี้

“ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ส่งเสริมให้ทุกคนเป็น Champions of Sustainability ที่มีความมุ่งมั่น และมีส่วนร่วมทําให้ธนาคารก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และมีส่วนในการทําให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นผู้นําด้าน ESG และความยั่งยืนในประเทศไทย เรามี Champion ที่มีความตั้งใจที่จะคิดนอกกรอบ และมุ่งมั่นทํางานอย่างหนัก

พวกเขาเหล่านี้มีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ และยึดมั่นวิสัยทัศน์ในระยะยาว เพื่อวางธนาคารให้อยู่ในจุดที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยรวมถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกไม่เพียงแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมอีกด้วย เพื่อให้ธนาคารสอดคล้องกับแนวทางที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

“เจสัน ลี” กล่าวด้วยว่า การสร้างอนาคตที่ดีขึ้นด้านสภาพภูมิอากาศต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินจำนวนมาก ตามรายงานที่เผยแพร่ระหว่างการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติ (COP 27) ปี 2565 ระบุว่าประเทศที่กำลังพัฒนา 1 ประเทศจะต้องใช้เงินทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อให้สามารถบรรลุแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส

เจสัน ลี
เจสัน ลี

เพราะธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการทรัพยากรทางการเงินเพื่อเป็นทุนในการดำเนินการ และเพื่อให้แผนงานบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยมีผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) และตราสารหนี้การเปลี่ยนผ่าน (Transition Bond)

“สิ่งสำคัญ เราส่งเสริมให้ลูกค้าของธนาคารลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธนาคารจะลดดอกเบี้ยให้ นอกจากนั้นยังช่วยลูกค้าคิดว่าต้องรับมือกับเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ดังนั้นถ้าเขาจะสร้างธุรกิจให้มั่นคง เราจะต้องส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน”

อันเป็นหลักปฏิบัติเรื่องความยั่งยืนของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในวันนี้