มองจากมุม “คนมิลเลนเนียล” องค์กรควรใส่ใจสังคม+สิ่งแวดล้อม

จากผลสำรวจ Deloitte Millennial Survey ครั้งที่ 7 พบว่าเมื่อปีแห่งความเปลี่ยนแปลงในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และสังคมโลกผ่านพ้นไป กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล และเจนซีต่างส่งสัญญาณเตือนถึงภาคธุรกิจให้ร่วมกันเร่งมือสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลก แม้ว่าธุรกิจบางแห่งจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องสังคม

แต่กระนั้น กลุ่มคนมิลเลนเนียลเอง กลับเกิดความเคลือบแคลงในเรื่องของแรงจูงใจ และจรรยาบรรณในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเสียงจากคนกลุ่มมิลเลนเนียลที่เข้าร่วมการสำรวจรวมทั้งสิ้น 10,455 คน จาก 36 ประเทศ รวมถึงคนกลุ่มเจนซีที่เพิ่งเริ่มเข้าทำงานอีกจำนวน 1,850 คนจาก 6 ประเทศ ก็ได้เข้าร่วมตอบผลสำรวจครั้งนี้เช่นกัน

จากผลสำรวจ Deloitte Millennial Survey 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มคนมิลเลนเนียลรู้สึกในทางที่ดีกับแรงจูงใจ และจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ แต่ผลจากการสำรวจในปี 2018 กลับพบว่าตรงกันข้าม โดยความเห็นเรื่องธุรกิจลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และผลสำรวจล่าสุดพบว่ามีกลุ่มคนมิลเลนเนียลเพียงร้อยละ 48 ที่ยังเชื่อว่าองค์กรประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ เมื่อเทียบกับปี 2017 มีจำนวนถึงร้อยละ 65 นอกจากนี้ กลุ่มคนมิลเลนเนียลร้อยละ 42 ยังเชื่อว่าผู้บริหารธุรกิจมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 62 ในปีที่แล้ว

ประเด็นที่ถือเป็นจุดสำคัญตลอดการทำสำรวจอย่างต่อเนื่อง 6 ปีที่ผ่านมาคือการสำรวจครั้งนี้กลุ่มคนมิลเลนเนียล รวมถึงกลุ่มคนเจนซีให้ความสำคัญกับบทบาทของธุรกิจที่มีต่อสังคม และเชื่ออย่างมากว่าความสำเร็จของธุรกิจนั้นไม่ได้มองกันแค่เพียงเรื่องของผลประกอบการ เพราะกลุ่มคนมิลเลนเนียลเชื่อว่าธุรกิจควรให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องนั่นคือ การสร้างงาน, นวัตกรรมการดูแลส่งเสริมชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานของพนักงาน และการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่าแล้วองค์กรที่ตนสังกัดนั้นให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง ?

คำตอบที่ได้คือมุ่งสร้างผลกำไร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน โดยเน้นการผลิต, การขาย หรือบริการ ซึ่งเป็น 3 สิ่งที่กลุ่มคนมิลเลนเนียลมองว่าองค์กรควรให้ความสำคัญน้อยที่สุด ทั้งยังเชื่อว่าธุรกิจควรตั้งเป้าให้กว้าง และสมดุลมากขึ้น ควบคู่ไปกับเป้าหมายในด้านผลประกอบการ

“พูนิท เรนเจน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ โกลบอล กล่าวว่าผลสำรวจในปีนี้ชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทางสังคม, เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์โลกในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อมุมมองในเรื่องธุรกิจของกลุ่มคนมิลเลนเนียล และเจนซี

“คนเจนนี้รู้สึกว่าผู้บริหารองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องของธุรกิจมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงการทำเพื่อสังคมส่วนรวม ธุรกิจควรหาทางที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม ชุมชน และให้ความสำคัญกับความหลากหลาย การให้โอกาสมีส่วนร่วม และความยืดหยุ่นในการทำงาน ถ้าองค์กรยังต้องการได้ความจงรักภักดี และความไว้ใจจากพนักงานในกลุ่มคนมิลเลนเนียล และเจนซี จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมด้วย”

“นอกจากนั้น ความจงรักภักดีของกลุ่มคนมิลเลนเนียลต่อองค์กรอาจลดระดับลงไปเท่ากับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มคนมิลเลนเนียลร้อยละ 43 คิดว่าจะลาออกจากองค์กรที่ตนทำงานอยู่ภายใน 2 ปี มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่มองว่าจะยังคงทำงานที่เดิมเกิน 5 ปี เรียกว่าเป็นคะแนนที่ห่างกันถึง 15 คะแนน หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 จากปีก่อน”

“ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าตนเองจะลาออกจากงานปัจจุบันในอีก 2 ปีข้างหน้า มีถึงร้อยละ 62 มองว่างานอิสระในระบบเศรษฐกิจแบบ gig economy จะเป็นทางเลือกที่ดีของพวกเขา เมื่อไม่ได้ทำงานประจำแล้ว เมื่อมาดูกลุ่มคนเจนซีจะพบว่าความจงรักภักดีของกลุ่มนี้มีน้อยกว่ากลุ่มคนมิลเลนเนียลถึงร้อยละ 61 และบอกว่าภายใน 2 ปี ถ้ามีโอกาสใหม่ที่ดีกว่าจะลาออกจากจากงานปัจจุบันแน่นอน”

คำถามในใจขององค์กรธุรกิจคือ แล้วจะดึงคนกลุ่มมิลเลนเนียล และเจนซีไว้ได้อย่างไร ?

เพราะคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความอดทน, การมีส่วนร่วม, ความเคารพ และความคิดเห็นที่แตกต่าง ในขณะที่ค่าตอบแทนที่ได้รับ และวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นตัวดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ต่อไป แม้ความหลากหลาย การมีส่วนร่วม และความยืดหยุ่นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้กลุ่มคนมิลเลนเนียล และเจนซีมีความสุขกับการทำงานก็ตาม

แต่กระนั้น กลุ่มคนมิลเลนเนียลที่ทำงานในองค์กรที่มีพนักงาน และผู้บริหารที่มีความหลากหลาย ต่างมีแนวโน้มว่าจะทำงานกับองค์กรไปอีก 5 ปี หรือมากกว่านั้น และในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าจะอยู่กับองค์กรเกิน 5 ปี อาจรับรู้ถึงความยืดหยุ่นในการทำงานในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการทำงานเมื่อ 3 ปีก่อน

กลุ่มคนเหล่านี้ต่างตระหนักดีว่าโลกยุค 4.0 กำลังปฏิรูปสถานที่ทำงาน และมีความเป็นไปได้ว่าจะปลดปล่อยคนจากงานที่ซ้ำซากออกไป เพื่อให้คนทำงานไปเน้นงานประเภทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนยังไม่มั่นใจเมื่อจะไปถึงวันนั้น โดยร้อยละ 17 ของผู้ตอบแบบสอบถาม และร้อยละ 32 ของผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรที่นำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้แล้ว ต่างกลัวว่างานบางส่วน หรืองานทั้งหมดจะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนมิลเลนเนียลเพียง 4 ใน 10 และเจนซี จำนวน 3 ใน 10 เท่านั้นที่รู้สึกว่า ตนเองมีทักษะจำเป็นที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งยังคาดหวังให้องค์กรช่วยสร้างความพร้อมให้พวกเขามั่นใจว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ได้

“มิเชล พาร์มาลี” ดีลอยท์ โกลบอล ทาเลนท์ ลีดเดอร์ จึงอธิบายในตอนท้ายว่าความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความจงรักภักดีที่มีต่อองค์กรนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจ ในการเพิ่มความพยายามดึงคนเก่งไว้กับองค์กร

“โดยเฉพาะยุคอุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องฟังมิลเลนเนียล และต้องคิดใหม่ ทำใหม่ในการบริหารงานบุคลากรที่มีความสามารถ โดยให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ และพัฒนา ที่จะช่วยให้พนักงานเติบโตในหน้าที่การงานของพวกเขาไปตลอดอายุของการทำงาน”

จึงจะทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขต่อไป