กลยุทธ์สร้างพันธมิตร เสริมแกร่งธุรกิจไทยเติบโต

กนกกมล เลาหบูรณะกิจ - รชา อุทัยจันทร์

ในยุคที่ไอซีทีกลายเป็นอวัยวะส่วนที่ 33 ของมนุษย์ ทั้งยังส่งผลไปถึงภาคธุรกิจที่จำเป็นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาเร่งอัตราความเร็วในการแข่งขันแต่ในอีกทางหนึ่ง การจับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพ นับเป็นยุทธวิธีที่จะช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน ซึ่งนอกจากพันธมิตรจะเป็นคู่ค้าแล้ว ยังเป็นคู่คิดที่ประคับประคองเกื้อหนุนกัน

ด้วยความสำคัญของการมีพันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงจัดงานสัมมนาหัวข้อ “Powerful Partnership สร้างธุรกิจเติบโตด้วยองค์กรพันธมิตร” ที่มี 2 องค์กรมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ how to ในการเฟ้นหาคู่พันธมิตรที่ใช่ ที่จะมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ได้แก่ บริษัท ฟูจึตสึ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทญี่ปุ่นชั้นนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่มีผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น และบริการทางเทคโนโลยีครบวงจร และคาเฟ่ อเมซอน ร้านกาแฟที่ถือกำเนิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“กนกกมล เลาหบูรณะกิจ” รองประธานฝ่ายขายกลุ่มลูกค้าเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟูจิตสึมีบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมากว่า 82 ปี มีพนักงานทั่วโลก 159,000 คน ส่วนประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 1990 มีพนักงานทั้งหมด 450 คน การที่เรายังคงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้ถูก disrupt ไป เพราะเรากลับมาดูตัวเองตลอดว่าบริษัทต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

“ธุรกิจมีความจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าในแวดวงธุรกิจ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องทำอะไรร่วมกันกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง ซึ่งที่ฟูจิตสึเรียกพันธมิตรว่า digital cocreation”

คอนเซ็ปต์ภายในของฟูจิตสึต่อการทำงานร่วมกับพันธมิตรคือ ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหนก็ตาม ผลที่ออกมาต้องทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ทั้งยังต้องมีการประเมินอยู่เสมอว่ารูปแบบพันธมิตรที่ใช้ ยังเวิร์กอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยน

ดังนั้น รูปแบบของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจจึงมีหลายหลาก เช่น joint venture กิจการร่วมค้า, marketing alliance การรวมตัวกันเพื่อทำกลยุทธ์ทางการตลาด, co-branding การใช้ตราร่วม เพื่อขยายฐานการตลาดจากแบรนด์หนึ่งไปยังอีกแบรนด์หนึ่ง, outsourcing การว่าจ้างให้บริษัท หรือหน่วยงานภายนอกห้องสมุดเข้ามารับผิดชอบ หรือดำเนินงานเพื่อช่วยงานในบางส่วนชั่วคราว หรืองานพื้นฐานระยะยาว, licensing การสัมปทานการผลิต และ franchising การขยายตลาดและเป็นช่องทางในการจัดจำหน่าย

“ฟูจิตสึเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการร่วมมือระหว่างพันธมิตรธุรกิจ จึงสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่สามารถสร้างกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันระหว่างลูกค้า, พันธมิตร และฟูจิตสึ ซึ่งหนึ่งในพันธมิตรของเราคือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยหลายปีผ่านมาผู้บริหารของอนันดาฯเล็งเห็นว่านวัตกรรมในการทำงานต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะ disruption ในแวดวงธุรกิจเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น”

ดังนั้น อนันดาฯจะไม่เป็นเพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป แต่จะกลายเป็น UrbanTech ที่พยายามแก้ปัญหาของคนเมืองด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผู้บริหารของอนันดาฯจึงเริ่มมองหาพันธมิตรที่จะมาช่วยพัฒนาโซลูชั่นนี้ ที่สุดจึงได้ฟูจิตสึมาเป็นหนึ่งในนั้น โดยอนันดาฯมีบทบาทเป็นผู้สร้างพื้นที่ และฟูจิตสึนำเทคโนโลยีมาใส่ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบโจทย์

“รชา อุทัยจันทร์” ผู้จัดการส่วนกลยุทธ์การตลาด คาเฟ่ อเมซอน กล่าวว่า คาเฟ่ อเมซอนแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2002 ด้วยแนวคิดที่เกิดจากการคำนึงถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะ เราต้องการให้พวกเขาเดินทางด้วยความสดชื่น และปลอดภัย และต้องการสร้างให้สถานีบริการน้ำมันเป็น life station ดังนั้น พันธมิตรจึงเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเรา เพราะการที่จะเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตได้ จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าต่าง ๆ

“จนทำให้สัดส่วนกว่า 80% ในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.เป็นผู้ประกอบการรายอื่น ๆ และคนในชุมชนที่มาร่วมทำธุรกิจ เพราะต้องการให้เขามาช่วยเสริมสถานที่ของเราสมบูรณ์มากขึ้น และนับว่าเรามีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจ SMEs ขึ้นกว่า 100 ราย ทั้งยังเป็นที่สร้างอาชีพให้กับคนชุมชนด้วย เราจึงอยากปล่อยโอกาสให้กับประชาชนมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเรา ด้วยการปล่อยแฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอน ถึงตอนนี้มีมากกว่า 1,500 สาขาแล้ว และเรายังส่งเสริมให้เกิดธุรกิจแฟรนไชส์ภายนอกปั๊มอีกด้วย จนตอนนี้สามารถต่อยอดขยายแฟรนไชส์ไปสู่ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และญี่ปุ่นแล้ว”

“สำหรับพันธมิตรกับองค์กรขนาดใหญ่เราร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ในการทำ PTT Blue Credit Card ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายในการใช้จ่ายแก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วยบัตรเดียว ทั้งการใช้จ่าย การสะสมคะแนน ตลอดจนการแลกคะแนนเพื่อใช้แทนเงินสดในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. รวมถึงการซื้อสินค้า และบริการจากธุรกิจเสริมของ ปตท. อาทิ Texas Chicken ร้านสะดวกซื้อ Jiffy Daddy Dough ศูนย์บริการยานยนต์ Fit Auto และร้านคาเฟ่ อเมซอน”

นอกจากนั้น ยังได้สิทธิแลกเครื่องดื่มที่คาเฟ่ อเมซอนอีกด้วย จากความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการผสานจุดแข็งของทั้ง 2 องค์กร ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้จ่ายด้านการเดินทางในประเทศ และตอบรับไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งยังส่งเสริม customer engagement อีกด้วย

นับว่าการร่วมมือกับพันธมิตรมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งยังช่วยเสริมความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กร ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ ทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าอีกด้วย