โควิดกระทบองค์กร ปรับแผนอบรมบุคลากร เปลี่ยนรูปแบบ-งบฯลดลง

ภาคธุรกิจเน้นเรียนรู้ผ่านหน้างานจริงมากขึ้น แทนการเข้าห้องอบรม โดยงบฯอบรมเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% ของค่าจ้างต่อปี

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมแห่งสมาคม PMAT เผยข้อมูลว่า งบฯในการพัฒนาคนของแต่ละองค์รในประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยค่าเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.8% ของค่าจ้างต่อปี ในขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 5% ของค่าจ้างต่อปี เพราะความสามารถในการจ่ายขององค์กรลดลง และรูปแบบของการพัฒนาฝึกอบรมจะเปลี่ยนไป

และการพัฒนาฝึกอบรมจะเป็น 70.20.10 หมายถึง 70% พัฒนาผ่านการมอบหมายงานต่าง ๆ 20% คือ พัฒนาผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง หน้างานจริง และ 10% พัฒนาผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม

“ปีนี้ภาคธุรกิจจะปรับไปเน้นการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านหน้างานจริง โดยไม่ต้องเข้าห้องอบรม ขณะเดียวกันงบฯในการพัฒนาคน 3.8% ของค่าจ้างต่อปี จะไม่ใช่รูปแบบการอบรมในห้องเรียน (on site) แต่จะถูกแบ่งไปใช้ใน e-learning และ online learning มากขึ้น”

นอกจากนั้น นายบวรนันท์กล่าวด้วยว่า งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นระดับโลกระบุว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและทำ organization transformation ในยุคนี้คือ การพัฒนาทุกผู้นำในทุกระดับ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดองค์กรต่าง ๆ จะติดปัญหาในการทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรม

จึงส่งผลให้หลักสูตรที่เกี่ยวกับผู้นำเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่จำเป็นในทุกองค์กร และถึงแม้จะเป็นยุคที่บูมที่สุดของโปรแกรมพัฒนาผู้นำ แต่เนื้อหาจะไม่เหมือนเดิม โดยตัวเนื้อหาของหลักสูตรผู้นำจะมีแนวโน้มไปเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะ แทนการเน้นเรื่องความรู้ และมุมมอง

โดยเฉพาะทักษะ transformative skills เช่น การทำความเข้าใจปัญหาโดยใช้กระบวนการ design thinking เข้าใจปัญหาเชิงลึกได้อย่างแท้จริง สร้างแนวทางใหม่ ๆ และการใช้ OKR ที่เน้น agile (แนวคิดการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน) ในการขับเคลื่อนงานสำคัญให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นยุคที่บูมที่สุดของโปรแกรมพัฒนาผู้นำ แต่โควิด-19 จะอยู่กับเราต่อไป ทำให้คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง และผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งอาจรูปแบบราคาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย ที่เคยสูงถึงวันละ 200,000 บาท ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ