เปิด 77 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น 77 จังหวัด จากกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติที่หายไป The Lost Taste” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติที่หายไป The Lost Taste” นั้น
ล่าสุด กรมส่งเสริมวัฒนธรรมออกประกาศ เรื่อง ผลการคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 77 รายการ จาก 77 จังหวัดแล้ว
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559
ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย เป็นการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล สารสนเทศ รวมทั้งสาระความรู้เกี่ยวข้อง ทั้งเป็นการต่อยอดสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณทางเลือกใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นให้คงอยู่และส่งต่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นำมาสร้างคุณค่าและมูลค่า รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความภาคภูมิใจกระตุ้นให้เกิดการยกระดับอาหารไทยพื้นถิ่น สู่อาหารจานเด็ดที่ต้องชิม ผลักดันให้เป็นเมนูซอฟพาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้หนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศให้ยั่งยืนสืบไป
นายโกวิทเผยต่อว่า จากการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน อาทิ ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านวิจัยภูมิปัญญาและการพัฒนาชุมชน ด้านอาหารและโภชนาการ ด้านการสร้างโมเดลธุรกิจและการเติบโตการตลาดดิจิทัล ด้านเชฟชุมชนอาหารไทยและอาหารพื้นเมือง ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเมนูอาหารที่นายกเหล่ากาชาดจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัดและสำนักงานวัฒนธรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร นำเสนอมาจังหวัดละ 3 เมนู รวมทั้งสิ้น 231 รายการ เพื่อให้กรรมการได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นเมนูตัวแทนจังหวัด รวม 77 เมนู
“ซึ่งเมนูอาหาร 77 เมนู ที่ผ่านการคัดเลือกนี้ ถือเป็นเมนูที่เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาด้านอาหาร มีสรรพคุณในทางยาสมุนไพร มีส่วนผสมหรือเครื่องปรุงที่ถูกหลักโภชนาการ ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นมรดกที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญหาย ด้วยขั้นตอนกรรมวิธีการทำที่ยุ่งยากซับซ้อน อาจจะไม่เหมาะสำหรับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน จึงเป็นเมนูอาหารที่ทรงคุณค่าต่อการอนุรักษ์สืบสาน และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดให้ได้รับความนิยมต่อไป” นายโกวิทกล่าว
เมนูอาหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” เช่น ข้าวตอกตั้ง-กรุงเทพมหานคร, แกงมัสมั่นกล้วยไข่-กำแพงเพชร, ยำไกน้ำของ(สาหร่ายแม่น้ำโขง)-เชียงราย, ตำจิ๊นแห้ง-เชียงใหม่, เมี่ยงจอมพล-ตาก, แกงแคไก่เมือง-น่าน, หลนปลาส้มพะเยา-พะเยา, น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง-พิษณุโลก, ปิ้งไก่ข้าวเบือ-เพชรบูรณ์, น้ำพริกน้ำย้อย-แพร่, แกงฮังแลลำไย-ลำพูน, ข้าวเปิ๊บสุโขทัย-สุโขทัย, อั่วบักเผ็ด-อุตรดิตถ์ ปลาแดกบองสมุนไพร-ขอนแก่น
คั่วเนื้อคั่วปลา-ชัยภูมิ, เมี่ยงตาสวด-นครพนม, เมี่ยงคำ (โคราช)-นครราชสีมา, หมกหม้อปลาน้ำโขง-บึงกาฬ ขนมตดหมา-บุรีรัมย์, แจ่วฮ้อนท่าขอนยาง-มหาสารคาม, ตำเมี่ยงตะไคร้ ลำข่าสดใส่มดแดง-มุกดาหาร, อั่วกบ (กบยัดไส้)-ยโสธร, ข้าวปุ้นน้ำยาปลาหลด-ร้อยเอ็ด, ส้าปลาน้ำโขง-เลย, ละแวกะตาม-ศรีสะเกษ, แกงหวาย-สกลนคร, เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าวโบราณ)-สุรินทร์, ลาบหมาน้อย-อุบลราชธานี
ข้าวตอกน้ำกะทิทุเรียนนนท์-นนทบุรี, เมี่ยงคำบัวหลวง-ปทุมธานี, แกงคั่วส้มหน่อธูปฤาษีกับปลาช่อนย่าง-ประจวบคีรีขันธ์, แกงเหงาหงอด-พระนครศรีอยุธยา, แกงรัญจวน-สมุทรสงคราม, แกงบวน-สิงห์บุรี, ปลาหมำสมุนไพรทอดกรอบ-สุพรรณบุรี, ต้มส้มปลาแรด-อุทัยธานี, ลุกกะทิชองหรือน้ำพริกชองพร้อมผักเคียง-จันทบุรี, หมูหงส์-ฉะเชิงเทรา, ปลาคก-ชลบุรี
แกงเลียงกระแท่งหอยนางรม-ตราด, แกงส้มผักกระชับ-ระยอง, น้ำพริกกะสัง-สระแก้ว, ปลากจุกเครื่อง-กระบี่ โกยุก-ตรัง, ขนมปะดา-นครศรีธรรมราช, อาเกาะ-นราธิวาส, อาจาดหู-พังงา, น้ำชุบเมืองหลาง 9 อย่าง-ภูเก็ต, ก๊กซิมบี้-ระนอง, ข้าวยำโจร(ข้าวยำคลุกสมุนไพร)-ยะลา, ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ-สตูล และแกงขมิ้นไตปลาโบราณ-สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมบอกอีกว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดพิมพ์หนังสือ “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชู อาหารถิ่น” เผยแพร่ต่อสาธารณะ และจัดทำโล่รางวัลเพื่อมอบให้แก่จังหวัด และจัดทำเกียรติบัตร มอบให้แก่ผู้เสนอรายการ จากทุกจังหวัดที่เข้าร่วมกิจกรรม
และจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 20 – 22 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการจัดงานประกาศยกย่อง “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” สร้างการรับรู้ให้สังคมไทยในวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจ เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดต่าง ๆ สามารถตรวจสอบประกาศรายชื่อ เมนูอาหารทั้งหมดได้ทาง www.culture.go.th และเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม