รู้จัก “พิธีรับขวัญข้าว” ประเพณี-ความเชื่อดั้งเดิมแบบไทย ๆ ทำไมต้องรับขวัญ

เมืองไทยมีประเพณีที่น่าสนใจมีอยู่อย่างหลากหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือประเพณี “รับขวัญข้าว” ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ห่างไกลจากชุมชนชาวนา หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจะต้องรับขวัญข้าว วันนี้มีเกร็ดความรู้สั้น ๆ แต่เข้าใจง่ายมาให้รู้จักและเข้าใจกัน

ประเพณีรับขวัญข้าว เป็นประเพณีที่ทำกันในเกือบทุกพื้นที่ทำนาของประเทศไทย แต่อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ประเพณีรับขวัญแม่โพสพ ประเพณีทำขวัญข้าว ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ ฯลฯ แต่การประกอบพิธีนั้นคล้าย ๆ กัน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างในส่วนของรายละเอียดของบททำขวัญ เครื่องเซ่นไหว้ และรูปแบบพิธีการ

ประเพณีรับขวัญข้าวเป็นประเพณีที่ชาวนาส่วนใหญ่เชื่อว่า แม่โพสพเป็นเทพธิดาประจำต้นข้าว และเป็นผู้คุ้มครองดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ชาวนาจึงได้ให้ความเคารพนับถือกราบไหว้แม่โพสพมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และด้วยความเชื่อที่ว่า “แม่โพสพเป็นผู้หญิง ตกใจและเสียขวัญง่าย จึงมักจะมีการทำพิธีรับขวัญแม่โพสพในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับต้นข้าว” ทั้งในช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้อง หรือในช่วงที่ได้ทำการเก็บเกี่ยวและนำข้าวขึ้นไปเก็บในยุ้ง เป็นต้น ประเพณีรับขวัญแม่โพสพในระยะข้าวตั้งท้อง มักจะทำในช่วงออกพรรษาหรือ ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี และนิยมทำพิธีกันในวันศุกร์

ชาวนาเชื่อว่า เมื่อทำให้แม่โพสพพึงพอใจแล้วจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลงและศัตรูข้าวมารบกวน และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำนาให้กับชาวนาได้เป็นอย่างดี

สำหรับสิ่งของประกอบในพิธี ด้วยตามความเชื่อแม่โพสพเป็นผู้หญิง จึงเชื่อว่าท่านอยากทานอาหารเหมือนคนท้อง เช่นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ชาวนาจึงทำพิธีทำขวัญแม่โพสพที่แปลงนาพร้อมกันในช่วงเวลาที่ข้าวตั้งท้อง โดยจัดนำอาหารคาวหวาน ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว สำหรับคนแพ้ท้อง เช่น มะยม มะเฟือง มาเป็นเครื่องเซ่นสังเวย รวมทั้งมีความรักสวยรักงามเจ้าของนาจึงได้นำเครื่องแต่งกาย เช่น สไบ สร้อยทอง รวมถึงเครื่องเสริมความงามต่าง ๆ เช่น หวี กระจก แป้งจันทร์ น้ำมันหอม มาเป็นเครื่องแต่งตัวให้กับแม่โพสพ

พิธีรับขวัญข้าวสามารถหาชมได้ในช่วงเวลาหลังออกพรรษา แต่อย่างที่บอกว่าในสังคมเมืองนั้นหาดูยากแล้ว ถ้าหากใครสนใจอยากดูว่าพิธีรับขวัญข้าวนั้นทำกันอย่างไร ช่วงนี้มีการจำลองพิธีการรับขวัญข้าวไว้ที่งาน “นาล้ง” นิทรรศการข้าวไทย นากลางกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะได้เห็นความสวยงามของข้าวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถไปชมได้จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ณ โครงการล้ง 1919 ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.เชียงใหม่ เขตคลองสาน เปิดให้เข้าชมฟรี